สำรวจ อ.โนนสูง หลังน้ำลำเชียงไกรทะลัก บ้านเรือน-พื้นที่เกษตร เสียหายเป็นวงกว้าง

สังคม

สำรวจ อ.โนนสูง หลังน้ำลำเชียงไกรทะลัก บ้านเรือน-พื้นที่เกษตร เสียหายเป็นวงกว้าง

โดย panwilai_c

1 ต.ค. 2564

34 views

ที่อำเภอโนนสูง นครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร เพราะคันดินข้างสันเขื่อนพังตั้งแต่เมื่อ 6 วันที่แล้ว ทำให้มวลน้ำจากอ่างลำเชียงไกรไหลเข้าท่วม พื้นที่อำเภอโนนไทย ต่อเนื่องมายังอำเภอโนนสูง ข่าว 3 มิติได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม


ถนนที่มุ่งหน้าเข้าสู่หลายหมู่บ้านในตำบลหลุมข้าว อำเภอโนนสูง เป็นถนนที่เชื่อมมาจากถนนมิตรภาพ น้ำได้ไหลข้ามถนน จนรถเล็กผ่านไม่ได้ หรือบางจุดผ่านได้ก็เป็นไปอย่างยากลำบาก


จากถนนที่น้ำท่วมเกือบทั้งเส้น การเข้าสู่หมู่บ้านหลุมข้าวพัฒนา ซึ่งถูกน้ำท่วมสูงทั้งชุมชน ต้องใช้เรือ ซึ่งชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน ต้องมาอาศัยอยู่ที่วัดหลุมข้าวเป็นคืนที่ 2 แล้ว หลังจากน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรไหลมาถึงที่หมู่บ้านนี้ตั้งแต่เมื่อ 3 วันก่อน นอกจากชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน ที่มาอาศัยอยู่ที่วัดแล้ว ยังมีชาวบ้านอีกประมาณ 50-60 ครัวเรือน ที่ต้องอยู่เฝ้าบ้าน


ข่าว 3 มิติ ได้เป็นตัวแทนมอบถุงยังชีพ ซึ่งประชาชนได้บริจาคผ่านช่อง 3 เพื่อมอบให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม จากวัดหลุมข้าว เมื่อเรือแล่นเข้าไปในชุมชน ชาวบ้านบางส่วนที่เป็นผู้หญิง ที่ยังคงเฝ้าบ้านอยู่ บางหลังมีเด็กรวมอยู่ด้วย นอกจากชาวบ้านที่ต้องหนีน้ำแล้ว สัตว์เลี้ยงหลายชนิด ถูกนำไปอาศัยในที่ที่พ้นจากน้ำท่วม ที่เห็นนี้ เจ้าของสุนัข ให้ต่อเติมที่นอนเหนือน้ำให้อาศัยชั่วคราว โดยสุนัขต้องนอนอยู่กันที่ ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงตกน้ำ ซึ่งหลายจุดน้ำไหลเชี่ยวมาก


สำหรับมวลน้ำจากตำบลหลุมข้าวแห่งนี้ จะไหลต่อไปที่ตำบลธารปราสาท ซึ่งขณะนี้ถูกน้ำล้อมรอบ ทางเข้าชุมชนถูกน้ำท่วมสูง ที่สำคัญ ที่นี่มีแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ที่มีอายุกว่า 3000 ปี ถือเป็นภูมิปัญญาโบราณ ที่เลือกสถานที่ฝังศพ อยู่บนที่ดอน ที่น้ำท่วมไม่ถึง น้ำท่วมครั้งนี้จึงไม่น่าจะไหลเข้าพื้นที่แหล่งโบราณคดีนี้ได้


สำหรับความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในขณะนี้ มี 23 อำเภอ ที่ถูกน้ำท่วมกว่า 5 แสนไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม กว่า 3 แสนไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 152,565 ไร่ มันสำปะหลัง 130,844 ไร่ ข้าวโพด 36,158 ไร่ อ้อยโรงงาน 1,205 ไร่ ผักสวนครัว ผลไม้ 574 ไร่


หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายโดยกำหนดให้ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ และให้จ่ายค่าชดเชย ข้าวไร่ 1,340 บาท พืชไร่ พืชผัก 1,980 บาท ไม้ผล ไม้ยืนต้น 4,048 บาท

คุณอาจสนใจ

Related News