สธ. ย้ำศูนย์อพยพเข้มมาตรการโควิด ป้องกันเกิดคลัสเตอร์ช่วงน้ำท่วม

สังคม

สธ. ย้ำศูนย์อพยพเข้มมาตรการโควิด ป้องกันเกิดคลัสเตอร์ช่วงน้ำท่วม

โดย panisa_p

28 ก.ย. 2564

30 views

วันนี้ (28 กันยายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวการปฏิบัติตัวช่วงน้ำท่วมกับการป้องกันโควิด 19 ว่า สถานการณ์อุทกภัยจากพายุเตี้ยนหมู่ขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบใน 30 จังหวัด 145 อำเภอ 548 ตำบล 2,401 หมู่บ้าน รวม 71,093 ครัวเรือน พบเสียชีวิต 6 ราย และสูญหาย 2 ราย ภาพรวมแบ่งออกเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้น น้ำท่วมทรงตัว และน้ำท่วมลดลง


นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า โอกาสแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงน้ำท่วม คือ การรวมตัวกันของผู้อพยพที่ศูนย์พักพิง ดังนั้น ผู้จัดการหรือควบคุมดูแลศูนย์พักพิงต้องดำเนินมาตรการป้องกันโควิด 2 ประการ คือ 1.จัดการสิ่งเแวดล้อม สุขลักษณะ สุขอนามัยและสุขาภิบาล เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม โรคที่มากับอาหารและน้ำ และโรคโควิด เน้นทำความสะอาดพื้นผิว จัดระบบถ่ายเทอากาศ จัดการไม่ให้เกิดความแออัด 


2. จัดการให้ผู้คนในศูนย์อพยพมีความปลอดภัย โดยผู้อพยพและผู้ให้การช่วยเหลือควรประเมินตนเอง หากมีอาการทางเดินหายใจให้รีบแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ให้การช่วยเหลือควรหยุดการไปช่วยผู้ประสบภัยทันที


นอกจากนี้ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ ซึ่งป้องกันทั้งโควิดและโรคอื่นๆ หลีกเลี่ยงสัมผัสใบหน้า ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน รับประทานอาหารสุกร้อน ไม่รวมกลุ่มรับประทานหรือจับกลุ่มพูดคุย สิ่งของบริจาคต้องมีความสะอาด หากดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคจะลดความเสี่ยงและโอกาสเกิดคลัสเตอร์ศูนย์พักพิง


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการรับมือภาวะน้ำท่วม 4 ประการ คือ 1.สถานพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมให้บริการหรือนำส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาลอื่นที่ปลอดภัยและพร้อมมากกว่าหากให้บริการไม่ได้ 2.ปรับการจัดบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ 3.ดูแลกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังและติดเตียง ในพื้นที่ยากลำบากในการเข้าถึง โดยอาศัยทีมหมอครอบครัว อาสาสมัคร ภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม และ 4.สื่อสารสร้างความรอบรู้ จัดเตรียมให้บริการในเรื่องสุขอนามัย สุขาภิบาล และโรคที่มากับน้ำท่วม


อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมมาแล้วผ่านไป สิ่งสำคัญคือการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจตนเองเพื่อรับมือกับภัยนี้ เมื่อน้ำผ่านไปก็ฟื้นฟูกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ

คุณอาจสนใจ

Related News