น้ำจาก “อ่างฯ ลำเชียงไกร” กระทบชุมชนแล้ว ชาวบ้านชี้แบบนี้เรียก "เขื่อนแตก"

สังคม

น้ำจาก “อ่างฯ ลำเชียงไกร” กระทบชุมชนแล้ว ชาวบ้านชี้แบบนี้เรียก "เขื่อนแตก"

โดย pattraporn_a

27 ก.ย. 2564

176 views

น้ำที่ทะลักออกจากคันดิน ที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จังหวัดนครราชสีมา เริ่มส่งผลกระทบกับชุมชนรับน้ำบางส่วนแล้ว




(27 ก.ย.) น้ำทะลักออกจากคันดิน ที่ชำรุดยาวประมาณ 15 เมตร ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวานตอนเช้า กลายเป็นข้อถกเถียงของคนในสังคม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ว่า สิ่งที่เห็นนี้เรียกว่า "เขื่อนแตก" ได้หรือไม่


ทีมข่าวได้สอบถามจาก เจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัดนครราชสีมา ได้คำตอบว่า ในเชิงเทคนิคไม่เรียกว่าเขื่อนแตก แต่เป็นการชำรุดของคันดินปีกด้านหนึ่งของเขื่อนกั้น ไม่ได้เป็นการพังของสันเขื่อน ประกอบกับน้ำในเขื่อนมีปริมาณมากจนอาจล้น ซึ่งต้องตัดคันดินส่วนอื่นเพื่อช่วยระบายน้ำอยู่แล้ว จึงเลือกใช้จุดที่ชำรุดเป็นที่ระบายน้ำแทน


ขณะที่ชาวบ้านที่เดินทางไปดูสภาพที่ชำรุด มีความเห็นในทางตรงกันข้ามว่า ที่เห็นชาวบ้านเรียกว่า เขื่อนแตก หรืออ่างเก็บน้ำแตก เพราะเป็นรอยชำรุด ที่ไม่สามารถปิดกั้นหรือควบคุมการระบายน้ำได้ แต่เป็นการปล่อยให้น้ำทะลักไปตามสภาพ




ด้าน นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ลุ่มน้ำลำเชียงไกร มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีมวลน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.ด่านขุนทด และมวลน้ำได้ไหลต่อเข้ามายังอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย ทำให้ชลประทาน จำเป็นต้องเปิดช่องทางระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง เพิ่มเติมจากเดิม เพื่อระบายน้ำออก ไม่ได้เกิดจากอ่างเก็บน้ำแตกหรือพังเสียหายแต่อย่างใด แต่เป็นเจตนาในการเพิ่มช่องทางระบายน้ำ


ล่าสุด มวลน้ำได้เซาะคันดินอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรพังกว้างกว่าเดิม และช่วงเย็นวันนี้มวลน้ำที่ ไหลออกจากอ่างได้เข้าท่วมหมู่บ้านในพื้นที่ท้ายอ่างแล้ว เช่น พื้นที่ 3 ตำบล ของ อ.โนนสูง ได้แก่ ต.จันอัด ต.เมืองปราสาท และต.ลำมูล บ้านเรือนหลายสิบหลังคาเรือน รวมทั้งวัด ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม. เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่ติดกับลำน้ำลำเชียงไกร


GISTDA ได้เปรียบเทียบข้อมูลภาพจากดาวเทียม ของวันที่ 24 กันยายน 2564 และวันที่ 27 กันยายน 2564 พบพื้นที่น้ำท่วมสีฟ้า ทางตอนล่างของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา กว่า 7,600 ไร่ ส่งผลให้พื้นที่ที่อยู่ทางตอนท้ายของอ่างฯ ซึ่งประกอบด้วยลำน้ำสาขา พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ริมตลิ่ง มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง



คุณอาจสนใจ

Related News