จับตาพรุ่งนี้ สภาฯ ชี้ชะตา พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ฉบับแรกของโลก

เลือกตั้งและการเมือง

จับตาพรุ่งนี้ สภาฯ ชี้ชะตา พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ ฉบับแรกของโลก

โดย pattraporn_a

15 ก.ย. 2564

67 views

(15 ก.ย.) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ทั้ง 4 ร่างแล้ว ก่อนลงมติในวันพรุ่งนี้ 


ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ถือเป็นกฏหมายที่ ส.ส.รัฐบาล และ ฝ่ายค้าน พร้อมใจกันสนับสนุนเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังใช้ความพยายามมากว่า 14 ปี สร้างความหวังให้กับครอบครัวผู้ถูกทรมานและทำให้สูญหายได้ทวงคืนความยุติธรรม


แพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.พรรคภูมิใจไทย สะอื้นระหว่างการอภิปรายสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง 4 ฉบับ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของนายฮัฐญี สุหลง โต๊ะมีนา ที่ถูกทำให้สุญหาย จนพบว่าเสียชีวิตในปี 2497 ผ่านมากว่า 67 ปี แม้จะมีคำขอโทษจากครอบครัวของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่เคยมีการหาตัวผู้กระทำผิดได้ เช่นเดียวกับบุคคลที่ถูกทรมานและทำให้สูญหายโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรม


เช่นเดียวกับ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ นายซูการ์โน มะทา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.พรรคประชาชาติ ที่เสนอร่างกฏหมายฉบับนี้ ผ่านการถูกกระทำของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 17 ปีที่ผ่านมา และพยายามเสนอกฏหมายนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยยินดีที่รัฐบาลผลักดันร่างของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอาจมาจากกระแสคดีคลุมถุงดำของอดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ จึงหวังว่ากฏหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบเพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้เสียหายในอดีต


สำหรับร่างกฏหมาย 4 ฉบับ ที่เสนอมีสาระสำคัญแตกต่างกันอยู่ จากร่างที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่ง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ย้ำถึงการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ไทยให้สัตยาบัณ ตั้งแต่ปี 2550 และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคลจากการหายสาบสูญโดยการบังคับ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ


ขณะที่ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างที่พรรคเสนอ เพราะเห็นความสำคัญในการป้องกันการกระทำที่มีมาตั้งแต่อดีต ทั้งจากการสังหาร อดีต รมต.4 คน ในปี 2475 อดีต ส.ส.ที่ถูกอุ้มหาย ไม่ว่าจะเป็น นายเตียง สิริขันธ์ หรือกรณีของนายฮัจญี สุหลง โต๊ะมีนา เหตุการณ์พฤษภาทิมิพฒ ผู้นำแรงงานอย่าง นายทนง โพธิ์อ่าน นายสมชาย นีละไพจิตร, นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์, บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ และกรณี อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติจนเสียชีวิต โดยร่างของพรรคไม่ให้นับอายุความจนกว่าจะพบบุคคลสูญหายถึงแก่ความตาย หรือเริ่มนับอายุความ 50 ปีหลังพบหลักฐาน


สำหรับร่างของพรรคพลังประชารัฐ และร่างพรรคก้าวไกล เป็นร่างที่เสนอจากภาคประชาชน ผ่านคณะกรรมาธิการกฏหมายและการยุติธรรม มีสาระสำคัญที่ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล ย้ำว่ากฏหมายนี้กำหนดให้การทำให้บุคคสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นอาชญากรรม คดีต้องไม่มีอายุความ ไม่ต้องส่งคดีต่อ ปปช.หรือ ปปท.และจะอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ได้


ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม และ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.พรรคก้าวไกล สนับสนุนร่างภาคประชาชน ที่กำหนดโทษผู้กระทำผิดไว้สูง และหวังให้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่พบว่าในปี 2563 มีผู้ถูกบังคับให้สูญหายในไทยอย่างน้อย 86 ราย มีการร้องเรียนการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 600 เรื่องตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน ซึ่งภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องนี้คาดหวังให้สภาฯรับร่างที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะการบังคับสูญหายที่อาจเป็นฉบับแรกในโลก


ทางด้าน พี่สาวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คาดหวังว่าหากกฏหมายฉบับนี้ ผ่านจะเป็นความหวังให้ทุกครอบครัวที่ถูกทรมานและอุ้มหาย ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หาตัวผู้กระทำผิด และได้รับการเยียวยา และป้องกันไม่ให้มีคนถูกอุ้มหายรายต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News