กรมชลฯ ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ชี้น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว

สังคม

กรมชลฯ ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ชี้น้ำใน 4 เขื่อนหลัก ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว

โดย thichaphat_d

14 ก.ย. 2564

53 views

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก อยู่ที่ 2,882 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 16 เท่านั้น ถือว่าน้อยกว่าในช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว แต่สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา


เนื่องจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนและภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ในวันนี้ 1,827 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำออก 2 ฝั่ง และควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 800 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลต่อระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนที่เพิ่มสูงขึ้น กระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำ


อย่างเช่น อำเภอบางบาล อำเภอเสนา และอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้ประสานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำแล้ว


ทั้งนี้การปรับเพิ่มการระบายน้ำจะไม่มีผลกระทบกับพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน แต่ถึงอย่างไรยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน เพราะจากข้อมูลยังมีโอกาสที่จะได้รับอิทธิพลจากพายุ ที่ส่งผลให้ฝนตกหนักในพื้นที่อีกได้ ขณะเดียวกันยังวางแผนเรื่องการกักเก็บน้ำควบคู่กันไปเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์น้อย


ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา พายุดีเปรสชัน โกนเซิน ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงแล้ว แต่ด้วยร่องมรสุมที่ยังคงพาดผ่าน


ทำให้บางพื้นที่ยังคงมีฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ในส่วนของกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมกำหนดจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วม พร้อมจัดเตรียมบุคลากรและเครื่องจักรกลไว้รับมือกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่แล้ว


ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีความจุน้ำเต็ม จำนวน 5 แห่ง จะส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดนครราชสีมา จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/W01fo39LWCs

คุณอาจสนใจ

Related News