รพ.ธรรมศาสตร์ แจงสังคม ปมเลือกใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยโควิด ย้ำแพทย์ไม่ได้จะหยุดการรักษา

สังคม

รพ.ธรรมศาสตร์ แจงสังคม ปมเลือกใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยโควิด ย้ำแพทย์ไม่ได้จะหยุดการรักษา

โดย thichaphat_d

24 ก.ค. 2564

59 views

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชี้แจงกรณีออกประกาศภายในเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ ท่อช่วยหายใจ ให้ผู้ป่วย โควิด-19 บอกมีเงื่อนไขหลายอย่าง และถึงเวลาที่ต้องเลือก


ประกาศฉบับนี้มีทั้งหมด 4 หน้า เป็นประกาศที่ติดแจ้งเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การไม่ใส่ท่อช่วยหายใจให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งเป็น 2 กรณี คือ


1.มีการแสดงเจตนาโดยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษร หรือไม่ประสงค์ให้ใส่ "ท่อช่วยหายใจ" หรือมีการประชุมครอบครัวร่วมกับผู้ตัดสินใจแทน แล้วมีข้อสรุปไม่ประสงค์ใส่ท่อช่วยหายใจ


2. ผู้ป่วยไม่ได้มีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า แต่แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อมีผู้ป่วยมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อจาก 4 ข้อ คือ อายุมากกว่า 75 ปี / ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง กี่โรค มากน้อยแค่ไหน / มีปัญหาในการดูแลตัวเอง / เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา


ซึ่งจากประกาศดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ตอนนี้ผู้ป่วยโควิดวิกฤตถึงขนาดที่แพทย์ต้องเลือกว่าให้ใครอยู่ และให้ใครรอดแล้วใช่ไหม


ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (23 ก.ค.) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชี้แจงว่า เป็นประกาศเผยแพร่ภายในถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนไม่สบายใจ และทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงมีการประชุมวางหลักเกณฑ์การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด19 ในระยะวิกฤตใหม่


ซึ่งเป็นการดูแลแบบประคับประคอง คือ เหมือนกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างสงบ ไม่เร่ง ไม่ยื้อให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยถูกกำหนดใช้ในกรณีผู้ป่วยโควิด ประกอบสถานการณ์ผู้ป่วยที่ล้น ห้องไอซียู มีเตียงไม่เพียงพอ ทำให้แพทย์ปฏิบัติงานด้วยความยากลำบาก และโรงพยาบาลหลายแห่งก็ประสบภาวะเดียวกัน


ปกติศักยภาพของโรงพยาบาล ในช่วงสถานการณ์ปกติที่มีผู้ป่วยอยู่ 3000 คนต่อวัน ก็ยังมีศักยภาพในการรองรับ และสามารถขยายไอซีอยู่ได้อีก 16 เตียง แต่ปัจจุบันที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 10,000 ถึง 15,000 คน ต่อวัน มีไอซียูรับผู้ป่วยได้ 40 เตียง และมีเตียงโคฮอดวอร์ด อยู่ที่ประมาณ 32 เตียง / ห้องแยก อีกประมาณ 30 เตียง


เท่ากับว่ามีคนไข้ประมาณ 100 เตียง และไม่รวมโรงพยาบาลสนามอีก 400 เตียง แต่ข้อจำกัดด้านบุคลากร ทำให้ไม่สามารถขยายไอซียูต่อไปได้ เพราะผู้ที่ปฎิบัติหน้าที่ในห้องไอซียู ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ผ่านการฝึกมากกว่าสองถึงสามปี


ผู้อำนวยการยืนยันว่า การรักษาโดยไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะหยุดการรักษา ยังคงมีการใช้เครื่องไฮโฟลว์ และมีแนวทางการรักษาต่อเนื่อง คนไข้ทุกคนยังมีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน


รับชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/o5IfP_G9OQQ

คุณอาจสนใจ

Related News