ศบค.ย้ำ จากนี้จะไม่ให้มีใครตายที่บ้านอีก เผย 5 เขต กทม.เจอ 'เดลตา' บุกหนัก

สังคม

ศบค.ย้ำ จากนี้จะไม่ให้มีใครตายที่บ้านอีก เผย 5 เขต กทม.เจอ 'เดลตา' บุกหนัก

โดย thichaphat_d

22 ก.ค. 2564

12 views

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2564


มีช่วงหนึ่งกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้กล่าวในที่ประชุม ศบค. ว่าได้ติดตามรับฟังข่าวสารข้อมูล และเน้นย้ำว่าจะต้องไม่มีคนเสียชีวิตที่บ้านจากการติดโควิด-19 ทำให้เมื่อมีการเจ็บป่วย จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบเร็วที่สุด


จึงพยายามตรวจด้วยชุดทดสอบแอทติเจน เทสต์ คิท (Antigen Test Kit) ที่จะขยายจุดตรวจให้ครอบคลุมมากขึ้น หลังจากที่เห็นภาพประชาชนมีความสงสัยว่าอาจติดเชื้อได้ จึงเข้าคิวรอตรวจจำนวนมากนั้น ขณะนี้การเพิ่มจุดตรวจจะช่วยลดปัญหาในการเข้าถึงจุดตรวจ อาทิ จุดตรวจของ กทม. หน่วยตรวจของกองทุนประกันสังคม


ในส่วนของกรุงเทพมหานคร พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ 80% อยู่ในเกณฑ์สีเขียวอ่อนและสีเขียวคือไม่มีอาการ และมีอาการน้อย นอกจากนี้ยังพบว่า การติดเชื้อเป็นไวรัสสายพันธุ์เดลต้า 53.9% หลักๆ อยู่ที่เขตจตุจักร บางรัก จอมทอง คลองเตย และหลักสี่ ส่วนสายพันธุ์อัลฟ่า อยู่ที่ 45.6%


ทั้งนี้ในกรุงเทพมหานครเตรียมเปิดจุดตรวจโควิด-19 ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. 69 จุด ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ยอมรับว่าขณะนี้ศักยภาพในการจัดสรรเตียงมีข้อจำกัดอย่างยิ่ง เตียงที่มีอยู่ขณะนี้ คือการเปิดเตียงเพิ่ม ทั้งนี้การแยกกักที่บ้าน และชุมชน ผอ.ศบค. เน้นย้ำให้มีการแยกกักชุมชน อย่างน้อย ตั้งเป้าเขตละ 1 แห่ง บางเขตอาจทำได้ถึง 2 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มศักภาพการบริหารเตียง ซึ่งขณะนี้ กทม. จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อการส่งต่อแล้ว 49 แห่ง ใน 47 เขต เปิดรับผู้ป่วยแล้ว 19 แห่ง รองรับได้ 5,365 เตียง


นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการรับผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในขณะนี้นั้น หากพบว่าผู้ป่วยมีผลการตรวจด้วยวิธี RT-PCR หรือการใช้ Antigen Test Kit (ATK) ในสถานพยาบาลเป็นบวก


เบื้องต้นจะแนะนำให้ประชาชนใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่จัดส่งยาและอุปกรณ์ในการกักตัวที่บ้าน พร้อมตรวจติดตามอาการทุกวัน สำหรับประชาชนที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ให้ประสานสายด่วน 1669 , 1668 หรือ 1330 เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา หรือเข้าสู่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ จากนั้น 3- 4 วัน จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับอาการของผู้ป่วย ณ ขณะนั้น



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/RTmzfgSwoHU

คุณอาจสนใจ

Related News