เปิดยอดด่านหน้าติดโควิดแล้ว 880 ราย เสียใจพยาบาลฉีดครบ 2 เข็ม ติดเชื้อดับ – เตรียมเคาะฉีดบูสเตอร์โดส

สังคม

เปิดยอดด่านหน้าติดโควิดแล้ว 880 ราย เสียใจพยาบาลฉีดครบ 2 เข็ม ติดเชื้อดับ – เตรียมเคาะฉีดบูสเตอร์โดส

โดย thichaphat_d

12 ก.ค. 2564

119 views

วานนี้ (11 ก.ค.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงกรณีการฉีดวัคซีนโควิด 19 บูสเตอร์โดสให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขว่า ก่อนอื่นขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของน้องพยาบาลที่ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ถือเป็นความเสียสละที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเมื่อติดโควิดอยู่ในการดูแลรักษาของทีมแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. จนถึงเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา


จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พยาบาลรายดังกล่าวได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกช่วง เดือนเม.ย. และฉีดเข็มสองช่วงต้นเดือน พ.ค. อย่างไรก็ตาม ด้วยการปฏิบัติงานที่แผนกดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างต่อเนื่องช่วงเดือน มิ.ย.ทำให้มีโอกาสรับเชื้อจากการปฏิบัติงาน และมีประวัติเสี่ยงคือภาวะอ้วน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดอาการรุนแรง


“ประเด็นเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็มเพียงพอหรือไม่ คณะกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประชุมเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ด้านไวรัสวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เห็นพ้องต้องกันว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีข้อมูลสนับสนุนว่า


ภูมิคุ้มกันจะลดลงหลังฉีดไประยะหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการเสนอให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นถือเป็นการฉีดเข็มที่ 3 ในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยเป็นการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ต่างจากชนิดแรก อาจจะเป็นไวรัลเวคเตอร์ คือ แอสตราเซเนกา หรือ mRNA ที่ไม่นานนี้เราจะได้รับการบริจาควัคซีนไฟเซอร์ โดยข้อเสนอของคณะกรรมการวิชาการจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวันที่ 12 ก.ค.นี้” นพ.โสภณ กล่าว


นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 97% โดยเป้าหมายการฉีดวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 7 แสนคน สำหรับข้อมูลการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-10 ก.ค. 2564 จำนวน 880 ราย เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในอัตรา 3:1 เป็นกลุ่มพยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาลมากที่สุด 54% กลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วย 28% แพทย์/ทันตแพทย์ 7% แม่บ้าน/หน่วยจ่ายกลาง 6% เจ้าหน้าที่รังสี/เภสัชกร 4% และเวรเปล/รปภ. 1% โดยกลุ่มอายุที่มากที่สุด คือ ช่วงอายุ 20-29 ปี รองลงมาคือช่วงอายุ 30-39 ปี


ทั้งนี้ จากข้อมูลของกองระบาดวิทยากรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและการตรวจสอบเรื่องการรับวัคซีน พบว่า บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 880 คน มีจำนวน 173 คน หรือ 19.7% ไม่มีประวัติฉีดวัคซีน ได้รับรายงานการเสียชีวิต 7 ราย โดยจำนวนนี้ 5 ราย ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิดในช่วงที่ติดเชื้อและรักษาจนเสียชีวิต ได้รับวัคซีน 2 ราย โดยรายแรกรับวัคซีนซิโนแวคเพียงเข็มเดียว เพราะวันที่เริ่มป่วยคือหลังรับวัคซีนเข็มสองเพียงวันเดียว ซึ่งปกติภูมิคุ้มกันจะขึ้นเมื่อฉีดเข็มสองแล้ว 14 วัน ส่วนอีกรายรายครบ 2 เข็มและติดเชื้อเสียชีวิต คือ น้องพยาบาลที่เป็นข่าว


หากพิจารณาอัตราการติดเชื้อในผู้รับวัคซีนและโอกาสเสียชีวิต ถือว่าผู้ที่รับวัคซีนครบมีโอกาสติดเชื้อและป่วยเสียชีวิตน้อยกว่าคนไม่รับวัคซีน ซึ่งข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ที่รับวัคซีนซิโนแวคเพียง 1 เข็ม จำนวน 22,062 ราย มีรายงานป่วย 68 คน คิดเป็นอัตรา 308 ต่อ 1 แสนการฉีด ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 67 ราย เสียชีวิต 1 ราย


รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ส่วนรับซิโนแวคครบ 2 เข็ม จำนวน 677,348 คน มีรายงานป่วย 618 คน คิดเป็นอัตรา 91 ต่อ 1 แสนการฉีด ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 597 ราย อาการปานกลาง 19 ราย อาการรุนแรงให้ออกซิเจนไฮโฟลว์ 1 ราย และเสียชีวิต 1 รายคือรายที่เป็นข่าว


ส่วนการรับวัคซีนแอสตราเซเนกา 1 โดส จำนวน 66,913 ราย มีรายงานป่วย 45 ราย โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย 43 ราย อาการปานกลาง 1 ราย รุนแรง 2 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต


“ข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลเบื้องต้น ยืนยันว่าคนรับวัคซีนมีโอกาสป่วยรุนแรงน้อยกว่าคนไม่ฉีด แต่จากการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัสช่วง มิ.ย.-ก.ค. จากเดิมติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา มาเป็นเดลตา ทำให้การป้องกันโดยวัคซีนโควิด 19 ชนิดซิโนแวคอาจไม่ได้ผลดีเท่ากับเชื้อเดิม ดังนั้น ผู้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มที่เป็นซิโนแวค โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า คณะกรรมการวิชาการฯ จึงเห็นว่าควรได้รับกระตุ้น 1 เข็ม ตอนนี้เราเตรียมวัคซีนแอสตร้าฯ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้าเป็นเข็มสาม เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น ส่วนท่านที่ประสงค์จะฉีด mRNA ต้องรออีกระยะหนึ่ง” นพ.โสภณ กล่าว


สำหรับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ต้องเตรียมการเรื่องการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม ระบบการส่งวัคซีนไปยังหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาลที่ต้องดำเนินการ ทั้งนี้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีด 2 เข็มยังป้องกันโรคได้ แต่เพื่อความมั่นใจเพิ่มความปลอดภัย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่จะประชุมวันที่ 12 ก.ค.นี้ คาดว่าจะมีมติเห็นชอบก็ดำเนินการได้เลย


อย่างไรก็ตาม การจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติมต้องสำรวจก่อน โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังทำแบบสำรวจ โดยเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าก่อน และตามด้วยบุคลากรการแพทย์กลุ่มอื่นๆ เมื่อได้ตัวเลขก็จะส่งวัคซีนไปฉีดเป็นเข็มกระตุ้น กลุ่มอื่นๆ ขอให้รอฟังและจะรวบรวมตัวเลขมาเพื่อวางแผนจัดวัคซีนให้


ทั้งนี้ การฉีดเข็ม 3 เนื่องจากประเทศอื่นที่ฉีดซิโนแวคยังไม่มีการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราฯ จึงจะมีการเก็บข้อมูลด้วย โดยเจาะเลือดหาภูมิคุ้มกันก่อนและหลังฉีดกระตุ้น เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่าฉีดได้ประโยน์มากน้อยแค่ไหน ภูมิขึ้นมาอยู่ได้นานเท่าไร รวมถึงศึกษาหากฉีดชนิด mRNA ที่อาจจะเข้ามาปลายเดือนนี้ด้วย



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/HN_na1B-Kzc

คุณอาจสนใจ