กรมการแพทย์ รับเตียงไม่พอ เดือนเดียวยอดครองเตียงพุ่ง 3 หมื่นเตียง

สังคม

กรมการแพทย์ รับเตียงไม่พอ เดือนเดียวยอดครองเตียงพุ่ง 3 หมื่นเตียง

โดย passamon_a

11 ก.ค. 2564

33 views

ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงประจำวันที่ 10 ก.ค.64 โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รายงานความคืบหน้าการใช้มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home isolation และแยกกักตัวพื้นที่ชุมชน Community Isolation


ซึ่งยอมรับว่า กรมการแพทย์เองไม่ได้อยากใช้มาตรการนี้หากไม่จำเป็น เพราะมีผลเสียคือสุขภาพของผู้ติดเชื้อ หากต้องอยู่ที่บ้านคนเดียวไม่มีผู้ช่วยดูแลแล้วเกิดสุขภาพแย่ลงอาจเกิดการเสียชีวิต และผลเสียต่อชุมชน จากการทบทวนรายงานจากต่างประเทศ ผลปรากฏมีการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวและคนในชุมชน หากไม่มีมาตรการดูแลที่ดี


แต่สถานการณ์ในขณะนี้ อัตราการครองเตียงประจำวันเมื่อ 9 มิถุนายน คือหนึ่งเดือนก่อนในกรุงเทพฯและปริมณฑล อัตราการครองเตียง 19,000 เตียง วันนี้อัตราการครองเตียงขึ้นมาเป็น 30,000 เตียง นั่นแปลว่าในหนึ่งเดือนอัตราการครองเตียงเพิ่มขึ้นถึง 20,000 ซึ่งรวมถึงภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นด้วย


รวมถึงข้อมูลผู้ป่วยกลุ่มไอซียู ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเช่นกัน บุคลากรที่อยู่หน้างานแบกรับภาระหนักจริง ๆ การแก้ปัญหาการเพิ่มเตียงและสถานที่อาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเพิ่มบุคลากรไม่สามารถทำได้ ประกอบกับมีกลุ่มบุคลากรที่ติดเชื้อเป็นระยะ ๆ ยิ่งทำให้บุคลากรลดน้อยลง จึงเป็นที่มาถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการแยกกักตัวที่บ้าน และแยกกักตัวที่ชุมชน และเป็นที่มาของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยใหม่


ทั้งนี้แนวคิดการแยกกักตรวจที่บ้านจะมีการพิจารณาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ อยู่ในระหว่างการรอแอดมิทเข้าโรงพยาบาล ซึ่งจะมีการติดตามอาการตลอดโดยแพทย์


ส่วนการแยกกักตัวในชุมชน ก็จะต้องได้รับการประเมินจากแพทย์แล้วเช่นกันว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ผู้ป่วยต้องไม่มีการต้องการออกซิเจนในที่รักษาและมีมาตรการของชุมชนรองรับ


โดยตอนนี้ทางกรมการแพทย์ได้ประสานกับเครือข่ายกลุ่มอาสาต่าง ๆ เพจต่าง ๆ เพื่อประสานและให้ข้อมูลเรื่องการแยกกับตัวที่บ้านและในชุมชน รวมถึงการสนับสนุนยา อาหาร ให้กับผู้ป่วย ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนเครือข่าย ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือกันในจุดนี้


โดยตอนนี้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เอง ทั้งราชวิถี เลิศสิน และนพรัตน์ มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนแยกกักตัวที่บ้านแล้ว 200 ราย และในส่วนแยกกักตัวที่ชุมชนอีกกว่า 200 ราย ที่นี่มีทั้งวัด โรงเรียน แคมป์คนงาน ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลและไม่มีอาการป่วย สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือติดต่อสายด่วน 1330 ในการลงทะเบียนและผ่านการประเมินในการแยกกักตัวที่บ้าน


ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่กำกับดูแลสถานพยาบาลเอกชน สถานพยาบาลคลินิก ในกรุงเทพและปริมณทล ซึ่งในขณะนี้มีปัญหาประชาชนต้องการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ซึ่งจากเดิมฐานกรมสนับสนุนเคยออกประกาศกำหนดให้สถานพยาบาลไหนรับตรวจผู้ป่วยและพบผลติดเชื้อ จะต้องรับผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษา ทำให้เกิดปัญหาการปิดรับการตรวจคัดกรอง


กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้ประสานแจ้งโรงพยาบาลเอกชน ขอให้สถานพยาบาลเปิดการตรวจให้กับประชาชน ส่วนการรับผู้ป่วยนั้นเป็นขั้นตอนการประสานตามระบบต่อไป ทั้งการจัด การแยกกักตัวที่บ้าน หรือส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอื่น ๆ รวมทั้งได้อนุญาตให้ใช้ Rapid Antigen Test ในการตรวจได้


รวมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายสำหรับการแยกกับตัวที่บ้านให้กับสถานพยาบาลและโรงพยาบาลเอกชนทราบแล้ว โดยสถานการณ์การใช้ Hospitel จากเดิมกว่า 19,000 เตียง ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1,000 เตียง


นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เข้าใจประชาชนที่ต้องตั้งการ์ดมาตลอดปีกว่า ภาคธุรกิจภาคผู้ประกอบการที่ต้องถูกล็อกดาวน์ในหลายหลายรอบ แต่ตอนนี้อยากจะขอให้เราร่วมมือกันอีกครั้งเพื่อช่วยกันลดจำนวนผู้ป่วย เพราะตอนนี้ด้านสาธารณสุขยอมรับว่าเตียงไม่พอจริง ๆ ถึงจะขยายเตียงได้แต่หมอพยาบาลก็ไม่ไหว ดังนั้น 14 วันที่มีการล็อกดาวน์ อาจจะเป็นช่วงที่จะช่วยให้ประคับประคองระบบสาธารณสุขให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งต่อไปนโยบายสำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีภูมิคุ้มกัน


คุณอาจสนใจ

Related News