แพทย์จุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจโควิด หาเชื้อได้จากน้ำลาย รู้ผลไว-แม่นยำ-ต้นทุนต่ำ

สังคม

แพทย์จุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจโควิด หาเชื้อได้จากน้ำลาย รู้ผลไว-แม่นยำ-ต้นทุนต่ำ

โดย panwilai_c

9 ก.ค. 2564

182 views

จากปัญหาการตรวจคัดกรองที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงเฝ้าระวัง ทางศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงได้นำเสนอโครงการพัฒนานวัตกรรมตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ขั้นสูง ที่สามารถตรวจหาผู้ติดเชื้อได้ทีละหลายร้อยตัวอย่าง โดยอาศัยตัวอย่างเพียงแค่น้ำลาย และรู้ผลได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง รวมทั้งให้ผลที่แม่นยำเทียบเท่าการตรวจหาเชื้อแบบ RT PCR ซึ่งจะเหมาะกับสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันเพื่อการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ


ขั้นตอนตรวจหาส่วนประกอบของธาตุในสารประกอบตัวอย่างหรือโมเลกุลจากโปรตีนในน้ำลายของกลุ่มเสี่ยงผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยวิธีการตรวจแบบแมสสเปกโตรเมตรี ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งผลที่ได้จะแสดงผลออกมาในรูปแบบของกราฟ ทำให้แพทย์ทราบได้ว่าใครคือผู้ติดเชื้อ


วิธีนี้สามารถตรวจพบโปรตีนจากไวรัส และโปรตีนตอบสนองต่อไวรัส ได้ทุกสายพันธุ์เป็นอย่างดี เทียบเท่าการตรวจด้วยวิธี RT PCR ที่ใช้กันในปัจจุบัน แม้ในตัวอย่างที่มีปริมาณไวรัสอยู่ในจำนวนไม่มากก็ตาม


โดยจากการวิเคราะห์ตัวอย่าง "น้ำลาย" ของผู้ป่วยที่มีผลบวก หรือ ติดเชื้อ หลังผ่านการตรวจ RT PCR ด้วยวิธีการแยงจมูกมาแล้วจำนวน 87 คน และตัวอย่างที่ไม่ติดเชื้อจำนวน 93 คน พบว่าให้ผลที่ตรงกันทุกตัวอย่าง ซึ่งการประมวลผลจะอาศัยปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เข้าร่วมวิเคราะห์ข้อมูล ใช้เวลาไม่นาน ราว 3-6 ชั่วโมงเท่านั้น ต่างจากวิธี RT PCR ที่รอผล 24-48 ชั่วโมง สามารถตรวจได้มากที่สุดกว่า 1,000 ตัวอย่างต่อครั้ง โดยมีต้นทุนราว 300 บาทต่อ 1 ตัวอย่างเท่านั้น


ดังนั้นวิธีตรวจหาเชื้อแบบแมสสเปกโตรเมตรี จึงสามารถเข้ามาช่วยสนับสนุนกระบวนการตรวจคัดกรองเชิงรุกในปัจจุบันที่กำลังเป็นปัญหาได้ เนื่องจากไม่ซับซ้อนและประหยัดเวลา โดยเฉพาะการตรวจเชิงพื้นที่แบบเป็นกลุ่ม เช่น โรงงาน และ องค์กรขนาดใหญ่ ที่ทำได้ต่อเนื่อง


ปัจจุบันนวัตกรรมนี้ยังอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรโปรแกรม และ การทำวิจัยเพิ่มเติม โดยยังมีกลุ่มตัวอย่างในขั้นตอนวิเคราะห์อีก 915 คน จากพื้นที่จริง และ ยังมีตัวอย่างจากคลังอีก 44,300 ตัวอย่าง นอกจากนี้ข้อมูลโปรตีนที่ได้ยังสามารถต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางการศึกษากลไกตอบสนองทางร่างกายของผู้ติดเชื้อแต่ละคน รวมทั้งวินิจฉัยโรคอื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อมต่างๆ ได้อีกด้วย


โดย ศาตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ ได้ย้ำถึงการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ และ สิทธิการเข้าถึงการตรวจได้อย่างครอบคลุมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในทุก 7 วัน จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดที่พุ่งสูงได้อย่างความสำเร็จของการควบคุมโรคที่เกิดขึ้นในประเทศจีน

คุณอาจสนใจ

Related News