จนท.มุ่งปิดวาล์วถังสารเคมี คุมเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว เหตุลมแรงไม่เหมาะรอดับเอง หวั่นฝนตกซ้ำ

สังคม

จนท.มุ่งปิดวาล์วถังสารเคมี คุมเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว เหตุลมแรงไม่เหมาะรอดับเอง หวั่นฝนตกซ้ำ

โดย pattraporn_a

5 ก.ค. 2564

649 views

เหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตโฟมและเม็ดพลาสติก ในซอยกิ่งแก้ว 21 จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้โรงงาน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย กว่า 100 หลัง มีผู้บาดเจ็บ 33 คน เจ้าหน้าที่กู้ภัยเสียชีวิต 1 คน ประชาชนกว่า 1 พันคนต้องอพยพ เนื่องจากสารเคมีอันตราย


เมื่อเวลา 21 นาฬิกา (5 ก.ค.) ได้เกิดเปลวไฟลุกลามขึ้นอีกครั้ง ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยมีการถอนกำลังออกจากพื้นที่หน้างาน เพื่อเปิดทางให้มีการระดมรถดับเพลิงเข้าไปฉีดน้ำยาโฟม ควบคุมไฟให้ได้มากที่สุด เนื่องจากวิธีการที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ คือการปิดวาล์วในบ่อสารเคมีให้ได้ ซึ่งต้องใช้นักผจญเพลิงเข้าไปปิดวาล์ว ที่มี 3 วาล์ว เพราะหากรอให้ไฟดับเอง อาจต้องใช้เวลานาน และไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่มีลมแรง หรือมีฝนตก


โดยที่เกิดเหตุ มีนายเชษฐา โฆษิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาเป็นผู้บัญชาการ เหตุการณ์ ร่วมกับนายอำเภอบางพลี และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนายณัฐฑัญ ละอองฟอง ผู้เชี่ยวชาญ กลุ่ม ปตท. หรือ Ppt group seal เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีเปลวเพลิงในจุดสุดท้าย รอบบ่อสารเคมี สิ่งที่ต้องทำคือการปิดวาล์ว ที่อยู่ในบ่อสารเคมีให้ได้ โดยมีทางเลือกสองทาง คือ รอให้ไฟมอด หรือส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปิดวาล์ว ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่สอง หากทำได้ก็จะควบคุมสถานการณ์ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีโอกาสที่เกิดระเบิดขึ้นได้อีก


สำหรับการควบคุมสถานการณ์ล่วงเลยมาเกือบ 20 ชั่วโมง เนื่องจากเหตุไฟไหม้และบ่อสารเคมีระเบิดเมื่อช่วงเวลา 3 นาฬิกา ทำให้เกิดไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง และมีสารเคมีสไตลีนโมเนเมอร์ ที่เป็นสารเคมีอันตราย ที่มีสารก่อมะเร็งได้ จึงตัองมีการอพยพประชาชนกว่า 1 พันคน ออกจากรัศมี 5 กิโลเมตร และระดมนักดับเพลิง รถดับเพลิงเข้ามาดับไฟ


ซึ่งในช่วงก่อนเที่ยงเกิดเหตุไฟลุกไหม้ ทำให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยกู้ภัยบาดเจ็บ 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย คือนายกรสิทธิ์ ลาสพันธุ์ อายุ 19 ปี เป็นอาสาสมัคร หน่วยสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อนอาสากู้ภัยต่างยกย่องให้เขาเป็นวีรบุรุษ ซึ่งเหตุไฟไหม้ครังนี้มีการระดมรถดับเพลิงจากหลายพื้นที่และนักดับเพลิงจากหลายมูลนิธินับร้อยคน มาควบคุมสถานการณ์ ทั้งการอพยพประชาชน และการควบคุมเพลิง ที่ยากมากเพราะเป็นสารเคมีอันตราย และกู้ภัยบอกว่าตบอดทั้งวันไม่ได้รับข้อมูลจากทางบริษัทเพื่อให้ทำงานได้อย่างปลอดภัยเลย


ส่วนปฏิบัติการสำคัญในการดับเพลิงที่ลุกไหม้สารเคมี จนทำให้มีกลุ่มควันสีดำตลอดทั้งวันนั้น มีการระดมรถดับเพลิงสารเคมี เพื่อใช้น้ำยาโฟม ควบคุมไฟที่ลุกไหม้ กว่า 66,000 ลิตร รวมทั้งใช้รถยนต์วิทยุบังคับ Lof 60 เข้าไปดับเพลิงโดยไม่ต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปด้วย รวมถึงนักผจญเพลิงระดับครูฝึกมาช่วยกันจำนวนมาก


ซึ่ง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สมุทรปราการ แถลงความคืบหน้ากรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานภายในซอยกิ่งแก้ว 21 โดย นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ แถลงข่าวเมื่อช่วงค่ำ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ระดมเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำเพื่อใช้โฟมเคมีเที่ยวบินละ 3,000 ลิตร ในการดับเพลิง รวมกว่า 10 เที่ยวบิน


ขณะที่ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันว่าจำนวนสารเคมีในถังเคมีภัณฑ์บ่อที่ 2 มีเพียง 20,000 ลิตรไม่ใช่ 500,000 ลิตร ตามที่มีกระแสข่าวออกไปก่อนหน้านี้


ล่าสุด นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ โดยระบุว่า ตั้งความหวังว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถข้าปิดวาล์วได้ตามแผน ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดควบคุมได้ในระดับที่พอใจ และคาดว่าจะจบในคืนนี้


ในส่วนของบรรยากาศที่ โรงเรียนเตรียมปริญญานุสรณ์ เป็นศูนย์อพยพสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งนับว่ามีประชาชนเข้าพักค้างมากที่สุดในบรรดาศูนย์อพยพทั้งหมด


ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้ทยอยเข้าสู่ห้องพักภายในศูนย์อพยพโรงเรียนเตรียมปริญญานุสรณ์ ตามการจัดสรรของเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังต้องควบคุมระยะห่างทางสังคมในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปด้วย ไม่มีใครได้หอบหิ้วสัมภาระใดมา ด้วยเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง หลายคนเห็นข่าวช่วงเช้า ก็คิดไม่ถึงว่าจะยืดเยื้อลุกลาม และเป็นอันตรายต่อชีวิต ตลอดทั้งวัน มีประชาชนเวียนเข้าออกศูนย์อพยพแห่งนี้ราว 350 คน ทั้งคนวัยทำงาน เด็กเล็ก ผู้สูงวัย มีผู้แจ้งความจำนงเข้าพักค้างคืนกว่า 200 คน บางส่วนโชคดีนายจ้างส่งรถตามมารับไปพักในโรงแรมที่จัดเตรียมให้


ศูนย์อพยพแห่งนี้เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนเตรียมปริญญานุสรณ์ และอบต.บางพลีใหญ่ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคัดกรองอย่างเข้มข้น ตรวจสอบอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น ระบบการหายใจ และแผลไฟไหม้ตามร่างกาย พร้อมเตรียมรถกู้ชีพ รถฉุกเฉิน เตรียมส่งต่อโรงพยาบาลใกล้เคียงได้ เบื้องต้นยังไม่พบผู้เจ็บป่วยรุนแรง ตลอดทั้งวันหน่วยงานรัฐและเอกชนทยอย นำอาหารน้ำดื่มมาช่วยเหลือต่อเนื่อง มีบางรายประกาศตามหาคนในครอบครัวที่สูญหาย จึงได้ประสานงานไปยังศูนย์อพยพอื่นด้วย ได้แก่ ศูนย์อพยพที่อบต. บางพลีใหญ่, ศูนย์อพยพวัดสลุด อ. บางพลีใหญ่, ศูนย์อพยพโรงเรียนวัดบางพลีใหญ่กลาง และศูนย์อพยพวัดบางพลีใหญ่ใน ที่เปิดเพิ่มเติม


ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และอธิบดีกรมโรงงาน เปิดเผยว่าโรงงานบริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด เป็นโรงงานผลิตโฟม และเม็ดพลาสติก มีกำลังการผลิต 80,000 ตันต่อปีและได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตมาหกรรมส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมส่งรถตรวจสภาพอากาศเข้าไปในพื้นที่ และเร่งหาสาเหตุ ให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 ร่วมกันตรวจวัดคุณภาพอากาศและปริมาณสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตราย และตั้งโรงพยาบาลสนาม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มูลนิธิร่วมกตัญญูในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการด้วย


จากการตรวจสอบพบว่า ทั่วประเทศมีโรงงานประกอบกิจการผลิตเม็ดโฟม ESP (Expandable Polystyrene) จำนวน 2 แห่ง คือที่จังหวัดสมุทรปราการ และโรงงานไออาร์พีซี ที่จังหวัดระยอง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 และได้ตั้งก่อนที่จะมีชุมชนเข้าไปตั้งในบริเวณใกล้เคียง และผ่านการทำEIA และ EHIA อยู่แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบโรงงานลักษณะเดียวกันที่จังหวัดระยองด้วย ส่วนโรงงานโดยรอบที่เกิดเหตุ รัศมี 5 กิโลเมตรมีทั้งสิ้น 301 โรง ได้สั่งให้อพยพคนออกทั้งหมด และระงับการผลิตไปก่อน


อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเตือนให้ประชาชนออกไปให้ห่างจากพื้นที่ที่สามารถติดไฟได้ พร้อมกับล้างสารเคมีที่เหลือด้วยน้ำปริมาณมากๆ เพราะสารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นผลิตโฟม ติดไฟได้ง่าย ส่วนสารพอลิสไตรีนนั้น เมื่อถูกความร้อนสูง จะให้สาร 2 ชนิดคือ สไตรีน และเบนซีน โดยเบนซีนเป็นสารพิษอันตราย มีความเป็นพิษสูงและเป็นสารก่อมะเร็ง โดยอาการของผู้ที่ได้รับเบนซีนเมื่อหายใจเข้าไปในระดับสูงและเป็นเวลานาน คือในระยะแรก ๆ จะเกิดอาการซึม วิงเวียน คลื่นไส้ หมดสติ ใจสั่น เมื่อสูดดมเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือด (Leukemia) ได้ เบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่าสินทรัพย์ในกองเพลิงเกือบ 700 ล้านบาท จากความเสียหายของสารเคมีกว่า 10 ชนิด และยังต้องประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น





คุณอาจสนใจ

Related News