ผอ.สถาบันวัคซีน รับไทยวางแผนสั่งวัคซีนโควิดล่าช้า ส่วน 'แอสตราเซเนกา' ได้ไม่ถึง 10 ล้านโดส

สังคม

ผอ.สถาบันวัคซีน รับไทยวางแผนสั่งวัคซีนโควิดล่าช้า ส่วน 'แอสตราเซเนกา' ได้ไม่ถึง 10 ล้านโดส

โดย weerawit_c

3 ก.ค. 2564

469 views

วานนี้ (2 ก.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ / นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยา และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าว “วัคซีนโควิดไทยจะเดินหน้าต่ออย่างไร”


ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุถึงการจัดหาวัคซีน มี 2 ส่วน คือ การวางแผนจัดหาวัคซีน และการขยายศักยภาพการฉีดวัคซีน ซึ่งทั้ง 2 ส่วนยังคงทำได้ต่อเนื่อง แต่ติดปัญหาการส่งมอบวัคซีน แม้ว่าวัคซีนแอสตราฯ จะผลิตในประเทศไทย แต่มีความจำเป็นต้องส่งออกไปประเทศอื่นที่มีการจองวัคซีนแอสตราฯ ที่ผลิตในประเทศไทยเช่นกัน


ขณะเดียวกันก็มีการวางแผนกับแอสตราเซเนกาเรื่องการส่งมอบวัคซีน ทางกรมควบคุมโรคก็ส่งแผนไปที่แอสตราเซเนกา โดยพิจารณาจากกำลังการฉีดที่จะเพิ่มขึ้นที่หวังจะให้ได้ถึง 10 ล้านโดส ซึ่งก็หวังว่าจะ ได้รับการจัดสรรจากแอสตราเซเนกา แต่เมื่อไปดูสถานการณ์การความเป็นจริง กำลังการผลิตที่สยามไบโอไซเอนท์อยู่ที่ 180 ล้านโดสต่อปี ซึ่งโดสเฉลี่ยตกอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อปี ในช่วงแรกของการผลิตวัคซีนกำลังการผลิตจะน้อย แล้วค่อยๆไต่ระดับสูงขึ้น


ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ เดือนกรฎกาคม และสิงหาคม แอสตราเซเนกาคาดจะผลิตวัคซีน 16 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้ต้องส่งมอบให้ประเทศอื่นด้วย เพราะเป็นนโยบายของบริษัทที่ต้องการจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึง เพราะฉะนั้นการส่งมอบวัคซีนในเดือนกรกฎาคม คาดว่า ได้ไม่ถึง 10 ล้านโดส ตามแผนการ ส่วนการจัดหาจากที่อื่นก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกที่องการวัคซีนเหมือนกันหมด


อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพื่อให้การฉีดวัคซีนของไทยเป็นไปตามเป้า ซึ่งในไตรมาส 3 จะมีวัคซีนซิโนแวค และวัคซีนซิโนฟาร์ม เข้ามาเพิ่ม ส่วนในไตรมาส 4 จะมีวัคซีนแอสตราฯเข้ามา 20 ล้านโดส ส่วนการกระตุ้นภูมิเข็ม 3 นพ.นคร ระบุว่า โรงเรียนแพทย์กำลังทำการศึกษา ว่า จะเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันได้อย่างไร และมีความจำเป็นในการฉีดเข็มที่ 3 ให้กับคนไทยหรือไม่ แต่อาจจะให้กลุ่มเปราะบาง ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ก่อน


นพ.นคร ยอมรับว่า ประเทศไทยมีการจองวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่น ประกอบกับการจองต้องใช้เวลา ทำให้เราได้รับวัคซีนช้ากว่าหลายประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยมีการศึกษาการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนชนิดเชื้อตายในเด็ก อายุระหว่าง 12-18ปี ซึ่งตอนนี้ได้ทำการจองวัคซีนไฟเซอร์ไป 20 ล้านโดส โดยจากข้อมูลการฉีดในเด็ก 12-17 ปีทำให้หลายประเทศตื่นตีวเนื่องจากการศึกษา การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเข็มที่ 2 ในกลุ่มเด็ก ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเกิดในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งการนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดให้เด็ก ประเทศไทยขอศึกษาเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยก่อน


ชมผ่านยูทูบที่ : https://youtu.be/9T5l7Ccbvn8

คุณอาจสนใจ

Related News