กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงบาตรพระภิกษุสงฆ์ เนื่องในวันกำเนิดสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย

พระราชสำนัก

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงบาตรพระภิกษุสงฆ์ เนื่องในวันกำเนิดสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย

โดย panwilai_c

16 มิ.ย. 2564

35 views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ดังนี้


วันนี้ เวลา 07.04 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ในการทรงบาตรพระภิกษุสงฆ์ เนื่องในโอกาสวันกำเนิดสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย (107 ปี วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย) เดิมชื่อ "วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย" กำเนิดขึ้นโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2457 เป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาการพยาบาลในประเทศไทย ได้ยกฐานะให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านการพยาบาล เมื่อปี 2559 อยู่ภายใต้การดูแลอุปถัมภ์ของสภากาชาดไทย


โอกาสนี้ ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดอาคารสิรินธรานุสรณ์ 60 พรรษา ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสมหามงคล ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 เป็นอาคารสูง 25 ชั้น ใช้เป็นอาคารเรียน อาคารปฏิบัติการและการวิจัย ทั้งระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา และเป็นหอพักสำหรับนักศึกษา ซึ่งได้รับพระราชทานนามอาคาร พร้อมพระราชทานพระราชานุญาต ให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ ประดับที่ป้ายอาคาร สำหรับนิทรรศการที่จัดแสดงให้ทอดพระเนตร เป็นเรื่อง นวัตกรรมทางการพยาบาล และผลงานวิชาการในด้านต่าง ๆ


ต่อมา เวลา 09.30 น. เสด็จออก ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านตาเอ็ม อำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ซึ่งสังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 จังหวัดอุบลราชธานี เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล 3 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 71 คน เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปีการศึกษา 2564 จึงเปิดเรียนเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน โดยผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ และมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด


โอกาสนี้ มีพระราชปฏิสันถารกับนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ที่มาเฝ้าทูลละอองพระบาท โดยทรงห่วงใยนักเรียนบางคนที่ต้องเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ แต่ขาดแคลนอุปกรณ์ หรือไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งทางโรงเรียน และผู้นำชุมชนได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว


ด้านการดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามโครงการตามพระราชดำริ พบว่าคะแนนเฉลี่ยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2563 วิชาวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ ส่วนวิชาคณิตศาสตร์เน้นการบูรณาการ โดยใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นข้อมูล ทั้งนี้ยังทรงห่วงใยราษฎรในพื้นที่ ที่ประสบปัญหาอาชีพทำกิน และพืชผลราคาตกต่ำ เช่น มันสำปะหลัง และยางพารา ทรงแนะนำให้ทางจังหวัดแก้ไขปัญหา และหาทางช่วยเหลือต่อไป


นอกจากนี้ ทางโรงเรียนได้นำปราชญ์ชาวบ้านมาสอนการปลูกต้นหม่อน การเลี้ยงไหม และการสาวไหม ให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นทายาทหม่อนไหมรุ่นที่ 5 โดยชาวบ้านจะมารับเส้นไหมจากโรงเรียนไปทอผ้า แล้วส่งกลับมาให้โรงเรียนนำไปจำหน่าย รวมทั้งสอนการทำผลิตภัณฑ์จากรังไหม เช่น ดินสอแฟนซี ดอกไม้ และมีกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสอนการเพาะเมล็ดยางนา เนื่องจากในพื้นที่มีการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก และเมื่อต้นยางนาโตเต็มที่ สามารถนำไปสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ และยังเป็นตัวเอื้อประโยชน์ในการเจริญเติบโตของเห็ดต่างๆ ที่ชาวบ้านสามารถเก็บไปจำหน่ายได้ราคาดี ปีที่ผ่านมา โรงเรียนมอบต้นกล้ายางนาให้กับชาวบ้านไปแล้ว 80 ครัวเรือน รวม 400 ต้น เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป


ส่วนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีการเลี้ยงปลาดุก ไก่ และหมู นับว่าเพียงพอต่อการบริโภค แต่พืชผัก ผลไม้ได้ผลผลิตน้อย ต้องปลูกถั่วลิสง , ถั่วเขียว , และมะละกอเพิ่ม โดยมีศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทย บริเวณชายแดนมุกดาหาร เข้ามาสอนการเพาะเห็ดนางฟ้า และเพาะถั่วงอกคอนโด นำไปประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียน โอกาสนี้ พระราชทานพระราชดำรัส ชื่นชมการดำเนินงาน และให้ร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อชุมชน


ต่อมา เวลา 13.33 น. เสด็จออก ณ ห้องประชุม วังสระปทุม ทรงติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ ของศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านหนองบัวพัฒนา อำเภอน้ำยืน ศูนย์แห่งนี้ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 แก้ปัญหาโรงเรียนไกล เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 61 คน


ผลการทดสอบวัดความรู้ความสามารถพื้นฐานระดับชาติ NT และผลการทดสอบ O-net พบว่า คะแนนเฉลี่ยต่ำ จึงแก้ไขเป็นรายบุคคล โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และกลุ่มรักเรียนเครือข่ายจัดสอนเสริม นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ หลักสูตรสมเด็จย่า ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ใช้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ใช้สอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนด้านความรู้ ทักษะกระบวนการ ด้านเจตคติและค่านิยม เพื่อให้ผู้เรียนสามารถน้อมนำ พระราชจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จย่า มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต


สำหรับกิจกรรมพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน ให้นักเรียนรู้จักระบบสหกรณ์ และการทำบัญชี รายรับ รายจ่าย มีครอบครัวที่เข้าร่วมกิจกรรม 20 ครัวเรือน พบว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ ตลอดจนพัฒนาสถานศึกษา เป็นศูนย์บริการความรู้แก่ชุมชน และยังปลูกฝัง การอนุรักษ์ และสืบทอดวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิ ประเพณีบุญข้าวสาก งานบุญต่าง ๆ ด้านกิจกรรมเสริมสร้างทักษะอาชีพ ให้นักเรียน ได้เรียนรู้อาชีพเกษตรกรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิต และการนำไปใช้ประโยชน์


อาทิ ปลูกผักกินใบ ผลไม้ เพาะเห็ดนางฟ้า ทำปุ๋ยหมัก การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่และสุกร และมอบเมล็ดพันธุ์ผักพระราชทานให้นักเรียนนำไปปลูก เพื่อประกอบอาหารในครัวเรือน ซึ่งผลผลิตที่ได้นอกจากใช้เป็นวัตถุดิบหลักในโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันแล้ว ได้นำไปแปรรูปเป็น มะละกอเชื่อม ,ฟักเชื่อมแห้ง , แหนมเห็ดนางฟ้า และกล้วยฉาบ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านในชุมชน


นอกจากเรื่องคุณภาพชีวิต และการศึกษาของนักเรียนแล้ว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงห่วงใย ซักถามความต้องการของชุมชน ในด้านการประกอบอาชีพเสริม โดยได้พระราชทานพระราชดำรัส ให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือกัน เพื่อให้ชุมชนเติบโต เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน