สธ. แจงโควต้าวัคซีน 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' รวมอยู่ในโควต้า 5 แสนโดสของ ทปอ. แล้ว

สังคม

สธ. แจงโควต้าวัคซีน 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' รวมอยู่ในโควต้า 5 แสนโดสของ ทปอ. แล้ว

โดย pichaya_s

4 มิ.ย. 2564

222 views

วานนี้ (3 มิ.ย.) โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความระบุว่า เนื่องจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนหลัก คือ 'แอสตร้าเซนเนก้า' และ 'ซิโนแวค' เพื่อฉีดให้ประชาชนอีกต่อไป จึงขออภัยที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับผู้ที่ลงทะเบียนไว้ผ่านระบบของ 'ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์' ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564


ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขอขอบคุณประชาชนที่ไว้วางใจลงทะเบียนเพื่อมารับการฉีดวัคซีน พร้อมขอบคุณจิตอาสาและเจ้าหน้าที่จากองค์กรต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนการบริการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลฯ ตลอดมา


สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและมีอาการรุนแรง หากได้รับเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อ ขอให้รีบลงทะเบียนเพื่อรับการฉีดวัคซีนกับศูนย์ฉีดวัคซีนของส่วนกลางโดยเร็วเพื่อลดการแพร่ระบาด


ต่อมาทีมประชาสัมพันธ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้แจ้งเพิ่มด้วยว่า เนื่องจากขณะนี้ทาง กทม.ได้เตรียมการจุดให้บริการฉีดวัคซีนหลายที่กระจายอยู่ทั่วมากกว่า 20 แห่ง และหลายหน่วยงานได้มาดูวิธีการบริหารระบบที่ให้บริการฉีดอย่างมีประสิทธิภาพจากที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้ทำเป็นตัวอย่างไปแล้ว


ประกอบกับทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ต้องเตรียมการจัดระบบใหม่ ในการวัคซีนตัวเลือกที่จะเริ่มกระจายได้ในอีกไม่เกินสองอาทิตย์จากนี้ ดังนั้นจึงต้องปรับการให้บริการฉีดวัคซีนหลักออกไปก่อน และราชวิทยาลัยฯ ยังมีทีมจิตอาสาที่ออกไปช่วยบริการฉีดวัคซีนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันกับทางมหาวิทยาลัยด้วย


สำหรับผู้ที่ฉีดเข็มแรกในวันเสาร์ที่ 15 พค.ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะแจ้งให้ไปรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน เวลา 10.30 น. ณ อาคาร เพ็ญศิริจักรพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ทั้งนี้นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกชี้แจงกรณีไม่ได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ทั้งซิโนแวค และแอสตราเซเนกา ทำให้ไม่สามารถบริการฉีดให้ที่ศูนย์ฉีดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต่อไปได้ ตั้งแต่ 14 มิถุนายนนี้ ว่า


โควต้าการจัดการวัคซีนโควิดของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถูกนำไปรวมกับโควต้ามหาวิทยาลัยที่ขึ้นตรงกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่มีรวม 11 สถาบัน โดยมีอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน และมีปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม


ทั้งนี้กรมควบคุมโรคได้ส่งวัคซีนจำนวน 500,000 โดส ไปให้กับทางมหาวิทยาลัยแล้ว อำนาจการจัดสรรจากนี้เป็นเรื่องของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการไม่เกี่ยวข้องกับกรมควบคุมโรค


ด้าน ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า ทปอ.ได้ขอวัคซีนจากกรมควบคุมโรคไป 9 แสนโดส เบื้องต้นได้รับมา 5 แสนโดส โดยในเดือนมิถุนายนนี้ จะให้มาก่อน 2.5 แสนโดส


โดยมีมหาวิทยาลัยที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน 11 แห่ง ได้แก่ จุฬาฯ, ม.เกษตรศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.มหิดล, ม.รามคำแหง, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , ม.ราชภัฎธนบุรี, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และ ม.รังสิต ก็จะจัดสรรตามศักยภาพการฉีดแต่ละวันของแต่ละศูนย์ ภาพรวมก็จะได้รับวัคซีนตั้งแต่ 5,000 โดส ถึง 30,000 โดส โดยระดมฉีดภายใน 2 สัปดาห์


“ทั้งนี้ ยอมรับว่าเราได้รับวัคซีนน้อยกว่าที่เสนอขอไปมาก เมื่อผู้ใหญ่ขอให้ช่วย เราก็พร้อมช่วย หลังจากนี้ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของ อว. เจรจาขอวัคซีนเพิ่มจาก สธ.” ศ.บัณฑิต กล่าว


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/09BYY8ntBFs

คุณอาจสนใจ