'ศ.นพ.นิธิ' แจงไม่บวกเพิ่มราคาวัคซีนซิโนฟาร์ม - 'กรมอนามัย' แนะหญิงท้องฉีดวัคซีนได้

สังคม

'ศ.นพ.นิธิ' แจงไม่บวกเพิ่มราคาวัคซีนซิโนฟาร์ม - 'กรมอนามัย' แนะหญิงท้องฉีดวัคซีนได้

โดย passamon_a

30 พ.ค. 2564

142 views

วันที่ 29 พ.ค.64 ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า "ต้องขอโทษที่แถลงข่าวพูดเร็วเกินไปมีคนคิดเลขไม่ทันเข้าใจไปว่า ราชวิทยาลัยฯ จะหากำไรจากวัคซีนตัวเลือก…..ขอเรียนว่าไม่เป็นความจริงและสรุปสั้นๆดังนี้ครับ


ถ้าทุนที่ซื้อวัคซีนมา = X , ค่าขนส่ง = Y , ค่าเก็บรักษา = Z , ค่าประกัน = V ราชวิทยาลัยจะจัดให้ องค์ภาครัฐ องค์กรภาคเอกชนที่ต้องการนำไปฉีดให้กับบุคลากรภายในที่มีชื่อตัวตนระบุชัดเจนในราคา X+Y+Z+V เท่านั้น ไม่มีการบวกเพิ่มแม้แต่บาทเดียว และยังมีข้อกำหนดว่าทุกแห่งจะไปขายให้บุคลากรหรือคนอื่นต่อไม่ได้เป็นอันขาด แต่ท่านจะไปจ้างสถานพยาบาลใดๆฉีดให้ สถานพยาบาลนั้นๆจะไปคิดค่าบริการอื่นใดเป็นข้อตกลงระหว่างสถานพยาบาลและองค์กรที่รับวัคซีนจากราชวิทยาลัยไป ดังนั้นประชาชนที่องค์กรนั้นๆจะดูแล จะได้รับบริการฉีดวัคซีน”ฟรี” ครับ……


อันนี้เป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณและการกระจายการฉีดวัคซีนให้ประเทศร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข…..แต่ประชาชนเป็นคนๆอาจจะไม่สามารถรับวัคซีน”ทางเลือก”นี้ได้ อย่างไรก็ดีคิวของท่านในวัคซีน”หลัก”ของประเทศจะได้เร็วขึ้น(ผมหวังว่าจะเป็นเช่นนั้นนะครับ)


นอกจากนี้ถ้าเป็นบริษัทเอกชนราชวิทยาลัยมีข้อกำหนดว่าท่านต้องซื้อวัคซีนเพิ่มอีกร้อยละสิบเพื่อบริจาคให้รัฐนำไปฉีดให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาสและไม่ได้อยู่กับองค์กรใดๆเช่นผู้ค้าขายอิสระบนทางเท้า หรือในตลาด"


ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์


โดยจากการสำรวจของกรมอนามัยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563 - 27 พ.ค.2564 พบว่ามีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 288 คน แม้ว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย แต่พบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 6 คน ทารกเสียชีวิตในครรภ์ 1 คน อัตราคลอดก่อนกำหนด ร้อยละ 18 เด็กทารกคลอดออกมาแล้วติดเชื้อจำนวน 17 คน


ที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ จึงมีมติเห็นชอบให้หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมลูก สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ต้องพิจารณาจัดลำดับตามความเสี่ยงในรายที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หอบหืด ปอด ไทรอยด์ หรืออ้วน แนะนำให้ได้รับการฉีดวัคซีนหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยรับบริการฉีดวัคซีนได้ที่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ทั้งภาครัฐและเอกชน


และหลังการรับวัคซีนต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด งดออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น งดใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับคนในบ้าน และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน ไทยเซฟไทย สำหรับสมาชิกในบ้านควรให้ความสำคัญในการช่วยปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อ โดยให้คิดไว้เสมอว่าหญิงตั้งครรภ์ เป็นกลุ่มเปราะบางและมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย



คุณอาจสนใจ

Related News