กรมวิทย์ฯ ยันโควิดสายพันธุ์ C.36.3 ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย - อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม'

สังคม

กรมวิทย์ฯ ยันโควิดสายพันธุ์ C.36.3 ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย - อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีน 'ซิโนฟาร์ม'

โดย weerawit_c

29 พ.ค. 2564

150 views

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ประจำวันที่ 28 พ.ค.2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,759 ราย แยกเป็นการติดเชื้อใหม่ 2,465 ราย ติดเชื้อจากเรือนจำที่ต้องขัง 1,294 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 18 ราย ทำให้ยอดสะสมในระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบัน 116,113 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 34 คน รวมเป็น 860 คน และยังรักษาตัวอยู่ 46,150 ราย อาการหนัก 1,226 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 405 ราย


สำหรับผู้เสียชีวิต อายุตั้งแต่ 33-92 ปี มาจาก กทม. 24 ราย ,สมุทรปราการ 3 ราย ,นครศรีธรรมราช 2 ราย ,ชลบุรี-นครราชสีมา-ตาก-นครสวรรค์-ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 1 ราย โดยวันนี้มี 1 รายที่เสียชีวิตระหว่างการตั้งครรภ์


ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ สูงสุดยังคงเป็น กทม. 973 ราย ,เพชรบุรี 658 ราย ,สมุทรปราการ 221 ราย ,นนทบุรี 102 ราย และสมุทรสาคร 55 ราย โดยจังหวัดโควิดเป็นศูนย์ ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 29 จังหวัด ส่วนผู้ติดเชื้อต่างประเทศ มาจากอินเดีย 4 รายซึ่งทั้งหมดเป็นคนไทย มาเลเซีย 1 ราย และกัมพูชา 11 ราย


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์ชนิดใหม่ สายพันธุ์ C.36.3 Variant ที่มาจากประเทศไทยในอังกฤษ และถูกพบครั้งแรกในประเทศไทยในผู้เดินทางมาจากอียิปต์ นั้น ยืนยันว่า ไม่ใช่โควิดสายพันธุ์ไทย เพราะเป็นผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ อีกทั้งเมื่อตรวจเจอก็กักตัวและเดินทางกลับอียิปต์ทันที โดยเปิดเผยไทม์ไลน์ จากการสอบสวนโรค กองระบาดวิทยา ว่า ชายสัญชาติอียิปต์ อายุ 33 ปี อาชีพผู้ช่วยนักบิน เดินทางจากฮ่องกง มาถึงไทยเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา และได้เข้ากักตัวที่ ASQ จ.สมุทรปราการ


จากนั้นวันที่ 29 ม.ค. เก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก่อนส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในจ.สมุทรปราการ และส่งตรวจสายพันธุ์ จึงพบว่าเป็นสายพันธุ์ B.1.1.1 ( ปัจจุบันคือ C.36.3 ) และเมื่อรักษาตัวจนหาย ไม่พบเชื้อ ออกจาก รพ. เมื่อวันที่ 16 กพ.64 และก็ได้บินกลับประเทศอียิปต์ ทันที และไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้รายอื่นเพิ่มจากผู้ป่วยรายนี้ในประเทศไทย


ด้านนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการอย. เปิดเผยว่า ซิโนฟาร์ม ถือเป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉินรายการที่ 5 ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตชนิดเชื้อตาย ผลิตขึ้นโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (BIBP) และได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก นับเป็นข่าวดี การอนุมัติครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นการนำเข้าวัคซีน แต่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนก่อน


ส่วนบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ทาง อย. ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า ไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้ายา และไม่เคยมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนมาก่อน ย้ำว่า บริษัทที่จะนำเข้าวัคซีนได้ ต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น


สำหรับวัคซีน 5 ยี่ห้อ ที่อย.รับรองขึ้นทะเบียน มีแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด / วัคซีนซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม / วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด / วัคซีนโมเดอร์นา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด / ล่าสุด วัคซีนของซิโนฟาร์ม นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด และมีอีก 2 ยี่ห้อที่อยู่ระหว่าง อย.พิจารณา คือ สปุกนิก V ของรัสเซียและ Covaxin


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการอย. และพลอากาศตรี นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกันแถลงความพร้อม เตรียมนำเข้าวัคซีนทางเลือก ยี่ห้อซิโนฟาร์ม เพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิต


ศ.นพ.นิธิกล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ. 2559 และขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี จึงต้องการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด จึงได้นำเข้า "ซิโนฟาร์ม" เพื่อเป็นวัคซีนทางเลือกคู่ขนานกับวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาให้ประชาชน ในเบื้องต้นจะนำเข้า 1 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน แต่ต้องดูการขนส่งว่าจะถึงเมื่อใด


โดยจะจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจ กำหนดขายราคาเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาราคาและค่าขนส่ง แต่ยืนยันว่า จะไม่คิดกำไร เบื้องต้นมีสภาอุตสาหกรรม และ บริษัท ปตท. ร่วมถึงเอกชนอีกหลายราย องค์กรบริหารท้องถิ่นก็มีติดต่อเข้ามา อยู่ระหว่างคุยรายละเอียด โดยจัดหามาจากสถาบันชีววัตถุที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองแล้ว และบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนจาก อย.เมื่อช่วงเที่ยงของวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา

คุณอาจสนใจ