สรุปดราม่า 'ซิโนฟาร์ม' เปิดเสียงเจ้าของ บ.แอคแคปฯ ยันไม่ใช่เอเย่นต์นำเข้ายา ปัดมีส่วนได้ส่วนเสีย

สังคม

สรุปดราม่า 'ซิโนฟาร์ม' เปิดเสียงเจ้าของ บ.แอคแคปฯ ยันไม่ใช่เอเย่นต์นำเข้ายา ปัดมีส่วนได้ส่วนเสีย

โดย thichaphat_d

28 พ.ค. 2564

1.1K views

โลกออนไลน์มีการแชร์ภาพของหนังสือ ที่บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด พันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทยของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีนซิโนฟาร์ม ในภูมิภาคเอเชีย ทำหนังสือลงวันที่ 27 พ.ค.2564 ถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยระบุว่า ได้จัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส ให้แก่รัฐบาลไทย พร้อมจัดส่งให้ประเทศไทยได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ไม่สามารถเข้าถึงนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้


โดย นายกรกฤษณ์ กิติสิน ประธานบริหารร่วม บริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ระบุว่า ทางบริษัทได้ส่งหนังสือไปให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จริง โดยก่อนหน้านี้บริษัทของตนได้ทำธุรกิจอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และได้ทำการติดต่อกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายวัคซีนซิโนฟาร์ม เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล


ซึ่งวัคซีนที่บริษัทของตนประสานไว้ได้จำนวน 20 ล้านโดส เป็นตัวที่พัฒนาโดย Beijing Institute of Biological Product หรือ BBIBP-CorV จดทะเบียนในปักกิ่ง เป็นตัวที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรองและมีการฉีดใน 41 ประเทศทั่วโลก และพร้อมจัดส่งให้ภายในสองสัปดาห์หลังจากทำสัญญากันเสร็จสิ้น แต่จะต้องเป็นการซื้อขายระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลเท่านั้น


ทางเราจึงได้ทำเอกสารต่างๆและพยายามติดต่อกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็อาจจะเป็นโชคไม่ดีหรืออาจจะเข้าผิดทาง ก็เลยไม่มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยด้วยตนเอง ในที่สุดผ่านไป 1 เดือนก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา


จนกระทั่งเห็นข่าวของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ประกาศนำเข้าวัคซีนเอง หลังได้ปรึกษากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง จึงได้ส่งหนังสือดังกล่าวไป เพราะคิดว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการจัดหาวัคซีนทางเลือกได้อย่างรวดเร็วและเพียงพอ และทางซิโนฟาร์มก็น่าจะยินยอมส่งให้ เพราะราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็เป็นองค์กรใหญ่เช่นกัน


เจตนาของพวกเราเพียงแค่อยากเป็นตัวกลางช่วยสนับสนุนรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนเท่านั้น หากเขาซื้อขายกันจริงก็เป็นเรื่องที่ดีกับประชาชน แต่ก็รู้สึกแย่ว่าทำไมติดต่อได้ยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน


ล่าสุดได้รับข้อมูลว่าหนังสือได้ส่งไปถึงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการตอบกลับ และยังไม่มีการติดต่อจากสำนักนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด


ขณะที่ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า เห็นหนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์โดยที่ คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็นๆเลย อย่างไรก็ดีถึงจะมาพบก็คิดว่าคงไม่ได้พบเหมือนกัน เพราะจากที่พยายามช่วยหาวัคซีน”ตัวเลือก”มาเพิ่มเติมระยะหนึ่งนั้น มีบริษัทหรือกลุ่มคนมากมายที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของวัคซีนโน้นวัคซีนนี้ มากกว่าสิบกลุ่ม ขอเรียนให้คนที่เห็นหนังสือนี้เข้าใจกันตามนี้ครับ


1)กลุ่มหรือบริษัทแบบนี้ที่ว่าเป็นตัวแทนนั้นเป็นไปได้ยาก


2)การเป็นตัวแทนใครในการนำยาหรือวัคซีนจริงต้องได้รับ dossier (รายละเอียดรายการประกอบยาและการผลิต)จากบริษัทเจ้าของเพื่อมาใช้ขอใบอนุญาตจาก อย.


3)บริษัทผู้ผลิตวัคซีนโควิดขณะนี้ จะติดต่อกับรัฐบาลหรือตัวแทนรัฐบาลก่อนเท่านั้น เป็นเหมือนกันทุกบริษัททั่วโลกเพราะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน จะไม่ติดต่อกับเอกชนเป็นรายๆหรือติดต่อคุยด้วยก็จะไม่ให้ dossier เพื่อยื่นขอใบอนุญาต


4)รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลเมื่อติดต่อแล้วจึงอาจมอบหมายให้บริษัทที่ทำโลจิสติกเรื่องการขนส่งและเก็บวัคซีนที่มีมาตรฐานเฉพาะเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนและทำการขนส่งแทนหน่วยงานรัฐได้


5)บริษัทหรือกลุ่มตัวแทนใดที่ว่าเป็นตัวแทนหรือมีวัคซีนเป็นล้านๆโดสโดยไม่มี dossier ที่ต้นทางจัดให้ ไม่ใช่ตัวแทนที่สมบูรณ์ครับ คงไม่ได้พบผมเช่นกัน


ถ้าติดตามและอ่านประกาศของราชวิทยาลัยฯในราชกิจจานุเบกษาที่อ้างถึงให้เกินแปดบรรทัด แล้วอ่านข้อบังคับลูกที่ตามมาก็จะทราบว่า ยังไงราชวิทยาลัยฯก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีครับ ขอร้องอย่าถือโอกาสโจมตีกัน แค่นี้ประชาชนคนเจ็บก็ทุกข์แย่อยู่แล้ว


ขณะเดียวกัน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. ระบุว่า จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด เป็นบริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นไปไม่ได้ที่จะนำวัคซีนเข้ามาได้ เพราะไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตนำเข้าด้านยา และไม่ได้มาขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีน ป้องกันโควิด-19 ของซิโนฟาร์ม แต่บริษัทที่มาขอขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนคือบริษัท ไบโอเจนเนเทค จำกัด


ซึ่งบริษัทที่ได้อนุญาตนำเข้าวัคซีนนั้นต้องดูแลและติดตามผลของผลิตภัณฑ์ หากมีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดไปแล้วต้องรับผิดชอบในผลิตภัณฑ์ที่ตนเองนำเข้ามา ดังนั้น การที่บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ออกมาบอกว่ามีวัคซีนนั้น ตนไม่แน่ใจเป็นอย่างไร แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะมาบอกว่ามีวัคซีนของชิโนฟาร์ม เพราะการนำเข้าจะต้องมาขออนุญาตขึ้นทะเบียน นำเข้าจาก อย.ก่อน


สำหรับ บริษัท ไบโอเจนเนเทค จำกัด ที่ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์มนั้น เป็นการยื่นเอกสารครบในครั้งเดียว ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ อย.จะมีการพิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.นี้ ซึ่งวัคซีนก็เป็นชนิดที่เพิ่งได้รับการรับรองให้ใช้กรณีฉุกเฉินจากองค์การอนามัยโลก


ส่วนกรณีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นั้น ไม่แน่ใจว่าจะรับวัคซีนต่อจากบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนำเข้าวัคซีนซีโนฟาร์มมาหรือไม่ แต่หากภายหลังราชณวิทยาลัยฯ มาขอขึ้นทะเบียนแล้วผ่านก็สามารถนำเข้าได้เอง


หลังจากที่เกิดกระแสตีกลับอย่างหนัก นายกรกฤษณ์ กิติสิน ได้ให้ข้อมูลอีกครั้งว่า บริษัทของตน เป็นเพียงบริษัทอสังหาริมทรัพย์เล็กๆ ที่ไม่ใช่บริษัทนำเข้ายา และทำการจดทะเบียนใหม่ขึ้นมา เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2563 เพื่อปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง แต่ด้วยมีเจตนาที่อยากจะประสานให้ทางตัวแทนจำหน่ายและรัฐบาลได้คุยกัน เนื่องจากมีข่าวว่าหาวัคซีนไม่ได้ จึงไม่ได้คิดถึงขั้นจะไปจดทะเบียน เพราะไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำเข้ายา และไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่าตนไม่ใช่เอเย่นต์แต่อย่างใด


เพียงแค่ตนเป็นคนทำธุรกิจคนหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด จึงอยากจะให้ประเทศไทยมีวัคซีนเข้ามาให้ประชาชนได้ฉีดกันโดยเร็ว เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น


ส่วนกรณีที่เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้โพสต์ข้อความนั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นความเข้าใจผิดในเจตนาของพวกตนหรือไม่ ซึ่งหากไม่ได้เข้าพบตนก็ไม่ติดปัญหาอะไร เพียงแค่กังวลใจว่าตอนนี้ข่าวที่ออกไปอาจทำให้เจตนาของพวกตนผิดเพี้ยนไม่ตรงกับที่พวกตนต้องการ ซึ่งหลังจากนี้ได้ปรึกษากับทางหุ้นส่วนแล้วว่าอาจจะทำการแถลงข่าวเพิ่มเติมในภายหลัง


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/wfKMcPHku9A

คุณอาจสนใจ

Related News