เสวนา 'นับถอยหลัง 16 ล้านคน ฉีดวัคซีนโควิด-19' แพทย์เผยผลวิจัย เสี่ยงจริงแต่คุ้มกว่าไม่ฉีด

สังคม

เสวนา 'นับถอยหลัง 16 ล้านคน ฉีดวัคซีนโควิด-19' แพทย์เผยผลวิจัย เสี่ยงจริงแต่คุ้มกว่าไม่ฉีด

โดย panwilai_c

7 พ.ค. 2564

121 views

การเสวนา "นับถอยหลัง 16 ล้านคน ฉีดวัคซีนโควิด-19" ที่จัดขึ้นในวันนี้ (7 พ.ค. 64) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัคซีนเข้าร่วมพูดคุยถึงผลศึกษาการใช้วัคซีนป้องกันวิด 19 ในไทย ทั้งของซิโนแวค และ ไฟเซอร์ ซึ่งพบว่ามีประสิทภาพเพิ่มภูมิคุ้มกันได้มากกว่า 99% หากฉีดครบ 2 โดส โดยแพทย์ยืนยันโอกาสเกิดผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนคุ้มกว่าการไม่ฉีด


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาล่าสุดของการเกิดภูมิคุ้มกันต้านเชื้อโควิด-19 ในวงเสวนา "นับถอยหลัง 16 ล้านคน ฉีดวัคซีนโควิด-19" โดยระบุถึงการสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19 ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งสูงขึ้นหลังการติดเชื้อแล้ว 3 สัปดาห์ เป็นกลไกปกป้องการติดเชื้อครั้งต่อไป แต่ภูมิที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดลงตามเวลา ขึ้นอยู่กับระดับภูมิต้านทาน และองค์ประกอบอื่นๆ เช่น ปริมาณไวรัสและปัจจัยต่างๆ ดังนั้นแม้หายป่วยแล้วก็ควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอย่างน้อย 1 เข็ม หลังหายป่วย 3-6เดือน


ขณะเดียวกัน มีผลการวิจัยภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน ของซิโนแวค โดยพบว่า โดสแรกสามารถเพิ่มระดับภูมิต้านทานได้ 66% และหลังฉีดครบ 2 โดส จะเพิ่มขึ้นถึง 99.4% มากกว่าระดับภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติคือ 92.4%


ส่วนผลวิจัยการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนกาในประเทศไทยขณะนี้ ยังมีผลวิจัยเพียงการฉีดโดสแรกเท่านั้น โดยพบว่าแม้ภูมิต้านทานจะเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการติดเชื้อโดยธรรมชาติ ซึ่งจะต้อง รอผลวิจัยภูมิต้านทานหลังฉีดโดสที่สองครบ 3 เดือนอีกครั้ง จึงจะสามารถเปรียบเทียบกับวัคซีนซิโนแวคได้


ปัจจุบันพบอาการไม่พึงประสงค์ 2 ประเภทจากการฉีดวัคซีน แบ่งเป็นอาการทั่วไป เช่น ปวด บวมแดง คลื่นไส้ หรือ ปวดท้องแล้วแต่บุคคล ส่วนอีกประเภทคืออาการแพ้รุนแรงมักเกิดในช่วง 30 นาทีแรกหลังรับวัคซีน


ซึ่งวัคซีนในโลกทุกยี่ห้อมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้ ในอัตราเฉลี่ย 1 ใน แสน – 1 ในล้านคน โดยในประเทศไทยพบอาการแพ้รุนแรงในวัคซีนซิโนแวคที่อัตรา 1.29 : 100,000 คน วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา 1.6 : 100,000 คน


ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในหลายประเทศก็พบการแพ้ในวัคซีนแต่ละยี่ห้อ ทั้งซิโนแวค แอสตราเซเนกา แม้กระทั่งจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ในอาการชาเกร็งเช่นเดียวกัน ทำให้บางประเทศหยุดใช้วัคซีนก่อนเพื่อความปลอดภัย ซึ่งก็พบว่าเป็นอัตราที่น้อยมากเมื่อเทียบกับโอกาสการติดเชื้อจนเสียชีวิตหากเป็นโควิด-19


นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าไทยตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคนในสิ้นปีนี้ 00000000โดยปัจจุบันมีวัคซีนที่จัดหาได้แล้วแบ่งเป็นซิโนแวค 3.5 ล้านโดส และ แอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดส่งตามรอบ และจะจัดหาวัคซีนทางเลือกให้ได้เพิ่มเติมจนครบ 100 ล้านโดส ร่วมกับภาคเอกชน ตามแผนการฉีดวัคซีน


กลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา จำนวน 16 ล้านคน คือ ผู้มีโรคประจำตัว และ ผู้สูงอายุ และอีก 32 ล้านคน เป็นประชาชนทั่วไปและชาวต่างชาติในประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน ส่วนกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จะครบภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม และตามด้วยเจ้าหน้าที่ด่านหน้าในเดือนมิถุนายน


ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ตกลงกับบริษัทไฟเซอร์ และ ไบโอเอนเทค จำกัด เพื่อนำเข้าวัคซีนประมาณ 10-20 ล้านโดสแล้ว ซึ่งจะสามารถจัดส่งได้ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป


ขณะเดียวกันสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เตรียมจัดซื้อวัคซีนจากโมเดอนา มาฉีดในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เพื่อเป็นทางเลือกในราคาประมาณ 2 โดส 3000 บาท ซึ่งขณะวัคซีนทุกชนิดที่ไทยจะนำเข้าอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรอง และทันทีที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อยโรงพยาบาลเอกชนก็สามารถสั่งซื้อได้ในทันที

คุณอาจสนใจ

Related News