รพ.สนามสมุทรสาคร พร้อมรับ "คลัสเตอร์คลองเตย" - นายกฯ ตั้งศูนย์จัดการปัญหาชุมชนแออัด

สังคม

รพ.สนามสมุทรสาคร พร้อมรับ "คลัสเตอร์คลองเตย" - นายกฯ ตั้งศูนย์จัดการปัญหาชุมชนแออัด

โดย pattraporn_a

4 พ.ค. 2564

76 views

นอกจากฉีดวัคซีนแล้ว กทม.ยังเปิดจุดตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ 2 แห่ง ที่ตลาดคลองเตย และชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ตั้งเป้าตรวจให้ได้จุดละ 1,000 คน


ชาวบ้านชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ต่อคิว เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากรถชีวนิรภัยพระราชทาน จำนวน 3 คัน ที่บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน จุดนี้ผู้ว่าฯกทม.มาตรวจดูความเรียบร้อย พร้อมระบุว่า วันพรุ่งนี้จะเพิ่มจุดตรวจอีก 4 จุดในพื้นที่ชุมชนคลองเตย เพื่อตรวจหาได้อีกอย่างน้อยวันละ 4,000 คนและจะทยอยตรวจต่อเนื่องให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด และหากผลออกมาว่าติดเชื้อ จะถูกส่งตัวไปรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการ


สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดในเขตปทุมวัน มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 162 คน ซึ่งศบค.ได้เฝ้าระวัง โดยเฉพาะในพื้นที่ 5.6 ตารางกิโลเมตร ในแขวงลุมพินีและแขวงปทุมวัน มีชุมชนแออัด 6 แห่งและเคหะชุมชน 1 แห่ง มีประชากร 29,581 คน ขณะนี้พบการติดเชื้อแล้ว 96 คน ผู้ป่วยมากที่สุดอยู่ที่ชุมชนบ่อนไก่ 61 คน และเคหะบ่อนไก่ 14 คน จึงต้องเร่งคัดกรองและแยกผู้ป่วยมารักษา


ขณะที่โรงพยาบาลสนาม ที่ จ.สมุทรสาคร มีการยืนยันความพร้อม ในการรองรับผู้ติดเชื้อจาก กทม.และปริมณฑล โดยวันนี้รองผู้ว่าฯ สมุทรสาคร นายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง ได้ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยที่ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 10 สภาอุตสาหกรรม โดยโรงพยาบาลสนามของสมุทรสาคร พร้อมรับผู้ติดเชื้อจาก กทม.รวม 3 แห่ง จากเดิมที่มี 10 แห่ง แต่ขณะนี้ได้ยกเลิกไป 7 แห่งแล้ว  ซึ่ง 3 แห่งที่เหลือ สามารถรองรับได้ทั้งสิ้น 1,446 เตียง แบ่งเป็น ศูนย์ 8 วัฒนา 2 จำนวน 760 เตียง ศูนย์ 9 วิท วอเตอร์ จำนวน 486 เตียง และศูนย์ 10 จำนวน 200 เตียง ส่วนการรับผู้ติดเชื้อจากชุมชนคลองเตย กทม.นั้น ขณะนี้รับเข้ามาเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว 35 คน คาดว่าเย็นจะส่งมาเพิ่มอีก 2 คน


ขณะที่แขวงสี่แยกมหานาค เป็นอีกคลัสเตอร์ชุมชนแออัดใน กทม. ที่ถูกจับตาการแพร่ระบาดโควิด-19 และจากนี้ต้องเร่งในการตรวจหาเชื้อเชิงรุก โดยข้อมูลจากการแถลงของ ศบค. รายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่เขตดุสิตจำนวน 80 ราย โดยเฉพาะแขวงสี่แยกมหานาค เช่น ชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก 73 คน ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา 5 คน และชุมชนรถไฟสายแปดริ้ว 2 คน ซึ่งเป็นชุมชนแออัดทั้ง 3 ที่


นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่าชุมชนแออัดดังกล่าว เริ่มมีรายงานพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มหนักขึ้นหลังสงกรานต์ มีหญิงอายุ 56 ปี เสียชีวิตไป 1 ราย ซึ่งจุดสำคัญที่จะเข้าไปดู คือ ที่ ชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีประชากรประมาณ 856 คน ทั้งหมด 203 ครัวเรือน โดยทางสำนักงานเขตดุสิต จะเร่งตรวจเชิงรุกเพื่อคัดแยกผู้เสี่ยงสูงให้ได้รับการตรวจ จึงขอความร่วมมือชุมชนให้ความร่วมมือสำหรับต้นตอของการระบาดที่ชุมนุมย่านนี้ มาจาก 3 คลัสเตอร์ 1.เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ย่านรัชดาฯ กลุ่มที่ 2 เชื่อมโยงจากพื้นที่พระราม 2 และกลุ่มที่ 3 ไปเที่ยวแพเมืองกาญจน์กับกลุ่มเพื่อนในช่วงสงกรานต์


โฆษก ศบค. ระบุว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดในกทม.และปริมณฑล ล่าสุด ในการประชุม ศบค.ชุดเล็กเมื่อวาน มีข้อสรุปที่จะแต่งตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล เพื่อยกระดับบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย นายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ผู้อำนวยศูนย์ด้วยตัวเอง และจะมีศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้ง 50 เขต โดยมี ผอ.เขตเป็น ผู้อำนวยการศูนย์


และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทรฺโอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงมาตรการแก้ปัญหาคลัสเตอร์คลองเตย ทั้งหมด 8 ข้อ เช่น ตรวจเชิงรุกเร่งด่วนทั้ง 39 ชุมชน ให้ได้อย่างน้อย 1,000 - 1,500 คนต่อวัน หากพบผู้ติดเชื้อให้มีการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนตามระดับอาการ เขียว เหลือง แดง กลุ่มสีแดงหรือกลุ่มติดเชื้อและมีอาการหนัก จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของ กทม. ทันที และให้เตรียมโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติม ผู้เสี่ยงสูงที่ยังไม่พบว่าติดเชื้อ จะต้องกักตัวในบ้านจนกว่าจะได้รับการแจ้งผล และระดมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยง วันละ 1,000-3,000 คน และตั้งเป้าฉีดให้ได้ 50,000 คน ใน 2 สัปดาห์ และจะฉีดต่อไปให้ได้ถึง 60% ของประชาชนในชุมชนแออัดคลองเตย หรือประมาณ 80,000 คน


ส่วนที่ สมุทรปราการ กรณีคลัสเตอร์ผู้ป่วยโควิค-19 รายใหม่ในพื้นที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ โดยพบเป็นแรงงานชาวเมียนมา และชาวไทย รวม 128 ราย ซึ่งทำงานอยู่ในโรงงานผลิตเหล็ก ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.ในคลองบางปลากด


ในวันนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลง ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่โรงงานแห่งนี้ ระบุว่า จากคนงานทั้งหมด 323 คน พบว่า วันนี้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 23 ราย รวมเป็น 151 ราย และในส่วนของ สารธารณสุขฯ พรุ่งนี้ช่วงบ่ายจะนำเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลงพื้นที่ภายในโรงงาน เพื่อตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 โดยตรวจเก็บตัวอย่างทางเลือด กับผู้ที่ตรวจครั้งที่ 1 ที่มีผลเป็นลบ และเมื่อทราบผลแล้ว จะดำเนินการคัดแยกไปยังพื้นที่ปลอดภัย พร้อมกักตัว 14 วัน


ดยผู้ที่ติดเชื้อคนไทย จะให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามของจังหวัดฯ ส่วนผู้ป่วยชาวต่างด้าว ทางโรงงานได้เตรียมอาคารขนาด 5 ชั้น จำนวน 2 อาคาร และโรงอาหาร ดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม เพื่อรอบรับผู้ป่วยได้เข้าพักรักษาตัว พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดทั้ง 14 วัน และสั่งห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง และห้ามผู้ป่วย หรือผู้เสี่ยงสัมผัส ออกนอกตัวโรงงานโดยเด็ดขาด


ขณะที่ นายพัลลพ งามหยดย้อย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ในคลองบางปลากด นำคณะกรรมการชุมชน พร้อมอุปกรณ์เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ ออกฉีดพ่นทั่วทั้งหมู่บ้าน ทั้งในตลาดสด ห้างร้าน ถนน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ



สามารถดูข่าวทาง Youtube ได้ที่ : https://youtu.be/Oj-72YcZKjY

คุณอาจสนใจ

Related News