ชี้ชัด! วิกฤตโควิด-19 ทำคนไทยเผชิญภาวะหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้

เศรษฐกิจ

ชี้ชัด! วิกฤตโควิด-19 ทำคนไทยเผชิญภาวะหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้

โดย pattraporn_a

15 เม.ย. 2564

47 views

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2564 สะท้อนว่า ภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด 19 ทำให้กระแสรายได้และสถานะทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มย่ำแย่ลง ซึ่งตอกย้ำปัญหาหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยต่อไปว่า เงินกู้ภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น สะท้อนสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างผู้กู้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ซึ่งอาจจะมองได้ว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นของผู้กู้ในส่วนนี้สะท้อนภาพของครัวเรือนที่ยอมเป็นหนี้เพื่อแลกกับความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในอนาคต กลุ่มบุคคลในกลุ่มแรกนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจากสถานการณ์โควิด


กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ หรือกู้ยืมเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง และ/หรือ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำย่ำแย่


นอกจากนี้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม เกิดตกต่ำลงจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ ผลสำรวจดังกล่าว พบว่าผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ มี “ภาระหนี้” หรือ Debt Service Ratio (DSR) สูงกว่าผู้กู้ในกลุ่มอื่นๆ


โดยค่าชี้วัด DSR ของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่ 44.1% ของรายได้ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 ส่วน DSR ของผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้อยู่ที่ 43.8% ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวนี้ อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ภาพรวมของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจฯ รอบนี้ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ของรายได้ต่อเดือน


อย่างไรก็ดีคงต้องยอมรับว่า วิกฤตโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ก็ทำให้ DSR ภาพรวมในปี 2564 ขยับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ DSR ที่ 39.4% ในปี 2562 ที่ไม่มีโควิด 19 ซึ่งสะท้อนกว่า สถานะทางการเงินของประชาชนค่อนข้างตึงตัวมากขึ้น และสถานการณ์รายได้ของประชาชนหลายกลุ่มเริ่มจะไม่สัมพันธ์กับหนี้สินที่ต้องแบกรับภาระ


ปัจจัยอันตรายต่อมาจากการสำรวจ พบว่าความสามารถในการผ่อนชำระคืนหนี้ในอนาคตนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ หรือกว่า 75% ของผลสำรวจดังกล่าวแสดงความกังวล เนื่องจากยังคงมีประเด็นรายได้ที่ไม่แน่นอน (45.3% ของผู้ตอบ) และค่าครองชีพและภาระหนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ (41.4%) รวมถึงการที่ภาระผ่อนหนี้หลังมาตรการเยอะและนานขึ้น (12.7%) ซึ่งตอกย้ำว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะที่เหลือของปี


ปัจจัยด้านการออมเงินของภาคครัวเรือนไทยลดต่ำลง หากเปรียบเทียบมุมการออมภาคครัวเรือนต่อรายได้จากผลสำรวจในปี 2564 (ถูกกระทบจากโรคระบาดโควิด-19) กับการออมภาคครัวเรือนในปี 2562 (ปีที่ไม่ยังเกิดโรคระบาดโควิด-19) จะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ของครัวเรือนไทย ลดลงประมาณ 3.6% จากที่มีสัดส่วนเงินออมประมาณ 16.1% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 12.5% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2564


สามารถดูข่าวทาง Youtube ได้ที่ : https://youtu.be/ezI1uP_CmZc

คุณอาจสนใจ

Related News