'แอสตราเซเนกา' ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด กับ อย.ไทย คาดพิจารณาได้ใน 1 สัปดาห์

สังคม

'แอสตราเซเนกา' ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด กับ อย.ไทย คาดพิจารณาได้ใน 1 สัปดาห์

โดย

19 ม.ค. 2564

578 views

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า การยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซนเนกา ในไทยนั้น เป็นการยื่นขอขึ้นทะเบียนในล็อตการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นเอกสารต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว รอเอกสารข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของคุณภาพมาตรฐานการผลิตของโรงงานในต่างประเทศ ก่อนที่ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาว่า อนุมัติการขึ้นทะเบียนหรือไม่ และหากเอกสารครบจะสามารถพิจารณาได้ภายใน 1 สัปดาห์

หากวัคซีนตัวนี้ที่เป็นล็อตการผลิตในต่างประเทศได้รับการขึ้นทะเบียน จะส่งผลต่อประเทศไทย คือ วัคซีนชนิดนี้ตัวนี้ที่บริษัท สยามไบโอไซเอนฯ จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยี มาผลิตในประเทศไทย 26 ล้านโดส เมื่อผลิตในประเทศแล้วเสร็จ ก็จะทำให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนชนิดเดียวกันแต่ต่างสถานที่ผลิตได้เร็วขึ้น เพราะมีหลักฐานการผลิตเหมือนกับล็อตที่ผลิตในต่างประเทศและที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากอย.แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนจะไม่สามารถนำเข้าวัคซีนตัวนี้ได้ เพราะในการยื่นขึ้นทะเบียนของบริษัทแอสตราเซนเนการะบุว่าจะขายให้รัฐบาลไทย และเป็นการอนุมัติการขึ้นทะเบียนในภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ขณะนี้มี 2 บริษัท แอสตร้า เซเนก้า และบ.ซิโนแวท ที่ยื่นประเมินรับรองคุณภาพจากทาง อย. คาดว่าจะมีข่าวดีในสัปดาห์นี้

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ขอบคุณอย.ที่เร่งตรวจสอบวัคซีนล็อตแรก โดย ระบุว่า

“วันนี้ ผมขอขอบคุณทาง อย. ที่เร่งดำเนินการพิจารณาตรวจสอบวัคซีนล็อตแรก และขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่เร่งเตรียมการ เพื่อให้เรามีความพร้อมในเรื่องการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะที่สำคัญอย่างยิ่ง คือการเตรียมระบบการติดตามผล และอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน”

ส่วนกรณีมีข่าวโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาขอขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไซโนแวค ประเทศจีน โดยอ้างว่า อย. ต้องใช้เวลา 3 เดือนในการพิจารณาวัคซีนดังกล่าวนั้น นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า 

ขณะนี้มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนของบริษัท ไซโนแวค ไบโอเทค จริง แต่ผู้ยื่นขออนุญาตคือองค์การเภสัชกรรม อย. ไม่เคยได้รับคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวจากโรงพยาบาลเอกชนแต่อย่างใด

รวมทั้งไม่เคยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ ของบริษัทหารือเรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนวัคซีน มีเพียงหนังสือที่โรงพยาบาลเอกชนรายนี้ยื่นต่อ อย. เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ อย. ลงนามในเอกสารประกอบการจองวัคซีนของบริษัท โดยแจ้งว่าจะมีการขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้าต่อไป

ทั้งนี้ อย. มีหน้าที่พิจารณาตรวจสอบวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย โดยต้องได้รับการประเมินก่อนนำไปใช้จริง เพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย ซึ่งจะประเมินใน 3 ด้าน คือ 1. คุณภาพ 2. ความปลอดภัย และ 3. ประสิทธิผลของวัคซีน โดยผู้ที่ต้องการขึ้นทะเบียนจะต้องแสดงข้อมูลเอกสารหลักฐานเพื่อประเมินคุณสมบัติของวัคซีนทั้ง 3 ด้านดังกล่าว ซึ่ง อย. พร้อมอำนวยความสะดวกในการขึ้นทะเบียนอย่างเต็มที่ ระดมสรรพกำลังทั้งผู้เชี่ยวชาญภายในและภายนอกมาร่วมพิจารณา เพื่อให้สามารถอนุมัติวัคซีนได้โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม อย. จะพิจารณาโดยยึดหลักที่สำคัญ ว่าต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จะเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบต่อประชาชน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อกังวลการฉีดวัคซีนของหลายประเทศ ที่มีผู้เสียชีวิต และมีผลข้างเคียงว่า ข่าวที่ออกมาทั้งหมดจะได้มาจากสำนักข่าวต่างประเทศ ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจากองค์การของรัฐใดๆ ที่เกี่ยวข้อง ว่าการใช้วัคซีน แล้วมีปัญหา และเป็นอันตรายอย่างไร หรือต้องยกเลิกการใช้หรือไม่

ในส่วนของประเทศไทย ยืนยันว่า รัฐบาลจะดูแลประชาชนทุกคน และวัคซีนที่ใช้ต้องปลอดภัยในภาพรวม แต่การฉีดวัคซีนในจำนวนคนเป็นล้าน อาจต้องมีการแพ้บ้าง ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าปกติ และกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการเรื่องวัคซีน โดยจะคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ