หอการค้าปรับ GDP ปี 63 ติดลบ 9.4% จี้รัฐช่วย SME ก่อนคนตกงานหลักล้าน

เศรษฐกิจ

หอการค้าปรับ GDP ปี 63 ติดลบ 9.4% จี้รัฐช่วย SME ก่อนคนตกงานหลักล้าน

โดย

4 ส.ค. 2563

602 views

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่า อัตราการขยายตัวของ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ระดับ -15% ซึ่งติดลบมากกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (ไตรมาส 2/2541) ที่ระดับ -12.5%

พร้อมปรับคาดการณ์จีดีพี ทั้งปี 63 จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 3.4-4.9% เป็นติดลบ 8.4-11.4% หรือค่ากลางติดลบ 9.4% โดยประเมินตัวเลขส่งออก ติดลบ 10.2% เงินเฟ้อ ติดลบ 1.5% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับ 90.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญมาจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามทั่วโลก และความกังวลการแพร่ระบาดระลอก 2 ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลให้การส่งออกยังไม่ฟื้นและติดลบหนักขึ้น

ขณะที่มาตรการ Travel Bubble มีแนวโน้มชะลอออกไปจากปีนี้ โดยประเมินว่าเม็ดเงินที่จะหายไปจากระบบเศรษฐกิจ ทั้งจากภาคการส่งออก การท่องเที่ยว ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น รวมถึงซ้ำเติมด้วยปัญหาภัยแล้ง ก็มีโอกาสที่เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจจะหายไปถึง 3 ล้านล้านบาทในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะเดียวกันพบว่า มีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจปลดคนงานจะมีมากขึ้น แม้ขณะนี้ผลการสำรวจจะพบว่า มีธุรกิจที่เริ่มปลดคนงานที่ 13.5% แต่ก็เห็นสัญญาณว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. ที่สิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ หากผู้ประกอบการยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ก็จะมีการปลดคนงานและเลิกกิจการมากขึ้น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทำได้น้อย เพราะกำลังซื้อคนในประเทศหายไป 30-40%

ขณะที่ภาคธุรกิจประเมินว่า จะสามารถประคองกิจการต่อไปได้อีกเพียง 6 เดือนเท่านั้น หากไม่มีรายได้ หรือมาตรการช่วยเหลือด้านเงินทุน เข้ามาเติมสภาพคล่อง

โดยได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท ในการจ้างงานในตำแหน่งที่ถาวร เพิ่มกำลังซื้อในระบบ และเปิดโอกาสให้นายจ้างสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเลิกจ้างในภายหลัง รวมถึงการเร่งปรับเงื่อนไขการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ช่วยเหลือสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการโดยเร็ว และพิจารณาขยายเวลาพักชำระหนี้ต่ออีก 6 เดือน

เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการในประเด็นเหล่านี้ จะช่วยแก้ปัญหาการปลดคนงาน และการปิดกิจการ ให้ลดลงได้ ไม่เช่นนั้นก็มีโอกาสที่จะเห็นจำนวนคนตกงานมากถึง 3 ล้านคน ภายใน 6 เดือนจากนี้ โดยเฉพาะในอุตสาหรรมการท่องเที่ยว และบริการ

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า นักวิชาการและภาคเอกชนต้องการให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ เร่งออกมาตรการเพิ่มเติมในการพยุงเศรษฐกิจ แต่ไม่ควรใช้รูปแบบในการแจกเงิน เหมือนการเยียวยาคนละ 5,000 บาท แต่ควรจะเป็นลักษณะการผลักดันให้ก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น แม้ว่าผลงานที่ออกมาจะเกิดประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าโครงการอื่น ๆ แต่ผลที่ได้รับจะทำให้ประชาชนมีรายได้ในรูปแบบการทำงาน และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นหลาย ๆ รอบ

นอกจากนี้ ต้องเร่งผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพราะเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึง และหลายกรณีธนาคารพาณิชย์ต้องขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงอยากให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกัน

เพราะหากไม่มีมาตรการของรัฐบาลมาเพิ่มเติม รวมถึงเอสเอ็มอีไม่มีสภาพคล่อง เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปีต้องมีการปลดคนงานออก 1.9 ล้านคน โดยเฉพาะในเดือน ต.ค. จะเห็นการปลดคนในระดับหลักล้านคนแน่นอน แต่หากเอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง ก็จะนำเงินมาจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงาน และใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งจะช่วยประคองการจ้างงานได้ประมาณ 10 เดือน

ชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/OFRGpe7oNcs

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ