องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกรกฎาคม 2563

พระราชสำนัก

องคมนตรี ประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกรกฎาคม 2563

โดย

9 ก.ค. 2563

418 views

องคมนตรีประชุมติดตามการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง ประจำเดือนกรกฎาคม 2563 ณ สำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมมูลนิธิโครงการหลวงประจำเดือนกรกฎาคม 2563 ณ สำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นวาระสำคัญในการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และ สถานี/ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง
ในปีงบประมาณ 2563 โครงการหลวงดำเนินงานวิจัย 49 โครงการ โดยขณะนี้โครงการหลวงได้เริ่มคัดเลือกพันธุ์สตรอว์เบอร์รีที่มีแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ โดยอยู่ระหว่างการขยายต้นไหล ก่อนนำไปปลูกทดสอบคุณภาพในเชิงการค้า นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพัฒนาศักยภาพโรงสีกาแฟ รวมทั้งพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชนิดย่อยสลายจากกากกาแฟกะลา เพื่อเป็นแก้วกาแฟ ร้อน-เย็น ถาดบรรจุผลไม้ ถาดสลัด คาดว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ภายในปี 2564 
นอกจากการวิจัยและส่งเสริมด้านพืชแล้ว โครงการหลวงยังดำเนินงานด้านปศุสัตว์ โดยในช่วงแรกของการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวเขา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานสัตว์ปีก สัตว์น้ำ และสัตว์อื่น ๆ แก่ราษฎร เพื่อเป็นอาหาร และเป็นอาชีพเสริมสร้างความพอเพียงในครัวเรือน ปัจจุบันโครงการหลวงยังคงมีการดำเนินงานด้านปศุสัตว์เพื่อสนองตามพระราชดำริ โดยจัดทำศูนย์สาธิตการเลี้ยงไข่ไก่อินทรีย์ขึ้นที่สถานีเกษตรหลวงปางดะ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์โครงการหลวง RPF. FARM และมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ และจะเป็นฟาร์มต้นแบบแก่เกษตรกร ให้เรียนรู้และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และยังขยายผลสู่เกษตรกร ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ทาเหนือ ทุ่งเริง และแม่สะป๊อก
งานวิจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คือ การวิจัยและพัฒนาเฮมพ์ หรือกัญชง เพื่อเป็นพืชทางเลือก สร้างรายได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนองตามพระราชเสาวณีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยโครงการหลวง และ สวพส ได้พัฒนาเฮมพ์จำนวน 4 พันธุ์ ซึ่งสามารถลดค่าสารเสพติด CBD ได้ต่ำกว่าค่าที่กฎหมายกำหนด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ เวชสำอางค์ รวมทั้งปลูกเพื่อผลิตเส้นใยเพื่อเป็นหัตถกรรมในครัวเรือน และขณะนี้ยังได้ร่วมกับกองทัพบก ในการนำเส้นใยเฮมพ์ไปทดลองตัดเป็นเครื่องแบบทหาร
ในด้านการส่งเสริมเกษตรกรผลิตพืชเพื่อสร้างอาชีพนั้น โครงการหลวงได้เน้นส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์และสารปลอดภัยในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมามีปริมาณการใช้สารชีวภัณฑ์มากกว่า 130,000 หน่วย ซึ่งเกินแผนที่ตั้งไว้ และจะเพิ่มการผลิตเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นได้ใช้เพิ่มขึ้น
โครงการหลวงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมและชุมชนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย สตรี และเด็ก มีโครงการพัฒนาเยาวชนและเกษตรกรผู้นำรุ่นใหม่ให้เป็นผู้นำการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเพื่อลดการเคลื่อนย้าย ในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูหัตถกรรมชนเผ่า ในปี 2563-2564 ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ลายปักเมี่ยน ซึ่งเป็นราชินีแห่งผ้าปักชนเผ่าเมี่ยน โดยรวบรวมลวดลายผ้าปักจากกลุ่มผู้สูงวัย และสตรีของชนเผ่าเมี่ยน บ้านปังค่า อำเภอปง จังหวัดพะเยา จำนวน 13 ลาย ซึ่งจะนำไปจัดแสดงในงานโครงการหลวง 51 ที่จะจัดในระหว่างวันที่ 6-16 สิงหาคม 2563 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยภายในงานจะมีผลิตผลผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการส่วนพระองค์จำหน่ายอีกมากมาย
ในบ่ายวันเดียวกัน องคมนตรี ได้เดินทางต่อไปยัง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2521 เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเขตหนาวทดแทนฝิ่นและแก้ไขปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย ปัจจุบันโครงการหลวงแม่แฮ มีประชากรรวม 14 หมู่บ้าน 781 ครัวเรือน โดยองคมนตรีได้เยี่ยมชมแบบจำลองการใช้พื้นที่ 
ซึ่งโครงการหลวงแม่แฮถือเป็นตัวอย่างศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบบนพื้นที่สูงที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งเป็นรูปแบบการใช้พื้นที่ที่เหมาะสม โดยให้ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่า และทำการเพาะปลูกในที่ที่เหมาะสม เน้นการพึ่งพากันระหว่างคนกับป่า ปลูกพืชที่สร้างรายได้และไม่ทำลายป่า อาทิ การปลูกพลับภายใต้ร่มเงาป่า และยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผัก ไม้ผล และกาแฟ แบบประณีตภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ได้แก่ มาตรฐาน GAP, McDonald’s G.A.P และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตหลัก ได้แก่ ต้นหอมญี่ปุ่น ผักกาดหอมห่อ กะหล่ำปลี สตรอว์เบอร์รี พลับ และกาแฟ
โครงการหลวงแม่แฮยังถูกจัดให้เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนพิการบนพื้นที่สูง โดยมีคนพิการ 7 ราย ที่ได้รับความช่วยเหลือให้มีแปลงปลูกผักในโรงเรือนเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว เฉลี่ยปีละ 108,000 ต่อครอบครัวต่อปี นอกจากนี้บ้านป่าเกี๊ยะ หนึ่งในชุมชนปกาเกอะญอ ยังได้รับรางวัลชุมชนคาร์บอนต่ำระดับดีเยี่ยมอีกด้วย ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม องคมนตรีได้มอบกล้าไม้ให้แก่ตัวแทนชาวบ้าน นักเรียน และองค์กรในพื้นที่ เพื่อนำไปปลูกเพิ่มพื้นที่ป่า ตามโครงการ "สวมหมวกให้ดอย ทยอยสร้างป่าวันไร่" โดยปีนี้โครงการหลวงมีเป้าหมายปลูกเพิ่มป่าในพื้นที่ 39 ดอย ไม่น้อยกว่า 365 ไร่ จากนั้น องคมนตรีได้เยี่ยมชมบ้านตัวอย่างชาวปกาเกอะญอ การทอผ้าของกลุ่มแม่บ้าน แปลงสาธิตไม้ผลภายในศูนย์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ประจำรัชกาล

แท็กที่เกี่ยวข้อง