ก.พาณิชย์ จ่อนัดทุกฝ่ายหารือ กระแสต่อต้านลิงเก็บมะพร้าวในไทย

เศรษฐกิจ

ก.พาณิชย์ จ่อนัดทุกฝ่ายหารือ กระแสต่อต้านลิงเก็บมะพร้าวในไทย

โดย

6 ก.ค. 2563

622 views

 กลุ่มผู้ประกอบการศูนย์ฝึกลิงขึ้นมะพร้าว จังหวัดสุราษฏร์ธานี ยืนยัน ไม่ได้นำลิงป่ามาใช้แรงงาน และไม่ใช่การทารุณสัตว์ ตามที่องค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีต้า กล่าวหา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเชิญ พีต้าและผู้ประกอบการมาหารือในวันที่ 8 กรฏภาคมนี้ เพื่อชี้แจงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขี้แจงกรณี ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในสหราชอาณาจักรนำผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ผลิตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมะพร้าว กะทิ และน้ำมันมะพร้าว ออกจากชั้นวาง หลังจากองค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีต้า มองว่าเป็นสินค้าที่ทารุณกรรมสัตว์ จากการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว ซึ่งระบุว่าเป็นลิงที่ถูกจับมาจากป่า แล้วนำมาฝึกฝนเพื่อเก็บมะพร้าววันละ 1 พันลูกนั้น นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่ไทยใช้ลิงเก็บมะพร้าว เป็นเรื่องของ วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต และการท่องเที่ยว ไม่ได้นำลิงมาใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ในวันที่ 8 กรกฏาคม นี้ นายจุรินทร์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เชิญผู้ผลิตกะทิและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว และ องค์กรพิทักษ์สัตว์ หรือ พีต้า มาหารือกัน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และมีแผนที่จะเชิญทูตประจำประเทศไทย ในประเทศที่มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ ไปดูกระบวนการผลิตและการเก็บมะพร้าวในภาคอุตสาหกรรมของจริง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ขณะที่นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์สาธิตการฝึกลิงตำบลคลองน้อย เมืองสุราษฎร์ธานี และชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่ และยืนยันการใช้ลิงขึ้นมะพร้าวเป็นวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของเกษตรกรมากว่า 100 ปีแล้ว โดยมีการเพาะพันธุ์ลิง การอนุบาลและการเลี้ยงดูที่เอาใจใส่เหมือนบุคคลในครอบ ครัว ให้อาหารวันละ 3 มื้อ เสริมด้วยขนมนมและผลไม้  ไม่ได้ไปจับลิงจากในป่าหรือทารุณกรรมสัตว์ตามที่มีการกล่าวหา จึงได้มาให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวและศูนย์ฝึกลิงได้ประกอบอาชีพ ซึ่งอาจเป็นความไม่เข้าใจวิถีชีวิตเกษตรกร 
โดย นายนิรันดร์ วงศ์วานิช เจ้าของศูนย์ฝึกลิงเพื่อการเกษตรคลองน้อย ที่เปิดมาแล้วกว่า 30 ปี มองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าว เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันมาและไม่มีอะไรทดแทนลิงขึ้นมะพร้าวได้ ซึ่งไม่มีการทรมานลิง แต่ตรงกันข้ามกลับให้การดูแลเหมือนครอบครัว และไม่มีการใช้ลิงป่า 
ด้านกำนันเชาวลิต ชูเสน่ห์ อดีตกำนันตำบลบางใบไม้ สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าในความเป็นจริงน้ำกะทิไม่ได้เกี่ยวข้องกับลิงเพียงอย่างเดียว เพราะการประกอบอาชีพของของแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกันอย่างเช่นที่อำเภอเกาะสมุย เดิมเคยใช้ไม้ไผ่เป็นไม้สอยลูกมะพร้าวแต่ปัจจุบันไม้ไผ่หายากมากจึงต้องหันมาใช้ลิงแทน สำหรับลิงที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเกิดจากการผสมพันธุ์จากลิงเดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ การใช้ลิงขึ้นมะพร้าวจึงจำเป็นทั้งในความแม่นยำและความเชี่ยวชาญ ถ้าหากเป็นแรงงานคนจะเป็นอัตรายมากกว่า
สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากประเทศไทยผลผลิตในปี 2562 ปีที่แล้ว มีประมาณ กว่า 7 แสนตัน และมีโรงงานแปรรูปผลผลิตจากมะพร้าว 15 โรงงาน ทั้งหมดเป็นกะทิ กว่า 1 แสนตัน โดย 70 เปอร์เซ็นต์ บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือเป็นการส่งออก ซึ่งนอกจากกะทิ จะมี มะพร้าวอ่อน แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับ กะทิ พบว่า ยอดการส่งออกปีที่แล้ว มีประมาณ 12,300 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรป 18% มูลค่า 2,250 ล้านบาทและในสหภาพยุโรป มีการส่งออกไปสหราชอาณาจักร 8% มูลค่า 1,000 ล้านบาท 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ