เลือกตั้งและการเมือง

กองทัพเรือ แจง หลังเพจ CSI LA โพสต์แฉแผ่นเหล็ก เรือหลวงสุโขทัยบาง

โดย attayuth_b

5 ม.ค. 2566

88 views

กรณีเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ตอนนี้ยังคงเดินหน้าค้นหาผู้สูญหายต่อเนื่อง ขณะที่อีกด้าน มีประเด็นที่เพจ CSI LA ได้เปิดเอกสารการซ่อมเรือ เมื่อปี 2561 ที่พบความหนาของแผ่นเหล็ก หลายจุดบางเกินมาตรฐาน ล่าสุดกองทัพเรือ ก็ออกมาชี้แจงแล้ว ย้ำว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน


โดย เพจ CSI LA ได้โพสต์กรณีเรือหลวงสุโขทัย เรียกว่าออกมาเปิดข้อมูลต่อเนื่อง ในข้อความ ระบุว่า "นี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า แผ่นเหล็กที่ใช้ซ่อมบำรุง เรือหลวงสุโขทัย ในปี 2561 เคยมีปัญหา ไม่ผ่านมาตรฐานกองควบคุมคุณภาพการต่อเรือ เพราะพบว่าแผนเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำบางกว่าที่กำหนดไว้


ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเรือ เพราะอยู่ตรงห้องเครื่องของเรือพอดี ถ้าน้ำท่วมจุดนี้ ก็จะทำให้เครื่องดับไฟฟ้าลัดวงจร เรือเป็นอัมพาตในทะเล เวลารบกันคู่ต่อสู้ก็จะยิงกันตรงจุดนี้" และก็ทิ้งท้าย "คนวงในฝากถามว่า บริษัทที่รับสัมปทานในการซ่อมแซมเรือ ใช้แผ่นเหล็ก และลวดเชื่อมชนิดเดียวที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมถึงผู้เชื่อมมีใบเซอร์ในการซ่อมแซมเรือรบหรือไม่" ซึ่งในโพสต์ ยังได้ชี้ถึงจุดที่แผ่นเหล็กบาง ทั้งฝั่งกราบขวา และกราบซ้ายของเรือ รวมถึงเอกสารแต่ละจุด ที่บอกว่าไม่ผ่านมาตรฐาน


ล่าสุด พล.ร.อ.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกมาชี้แจงกรณีนี้ ว่า จากการตรวจสอบ พบว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ซึ่งจากการตรวจสอบกับกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีหน้าที่ในการซ่อมและสร้างเรือให้กับกองทัพเรือ ไล่เรียงรายละเอียด ระบุ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ ได้ให้ข้อมูลว่า ข้อมูลที่มีการนำเสนอและวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นข้อมูลการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือของเรือหลวงสุโขทัย ในช่วงการซ่อมทำเรือหลวงสุโขทัยตามวงรอบ ระว่างวันที่ 12 ก.ค.-ก.ย. 2561


โดยกองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ได้ทำการวัดความหนา เมื่อวันที่ 23-24 ก.ค. 2561 เพื่อให้ทราบสภาพแผ่นเหล็กตัวเรือทั้งหมดตลอดลำ ซึ่งจะมีแผ่นเหล็กบางจุดมีความหนาน้อยลงจากเดิมเกิน 25% จำนวน 13 จุด ซึ่งเป็นข้อมูลจริงตามที่มีการนำเสนอ แต่ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากขาดข้อมูลการซ่อมทำที่แล้วเสร็จ


ทั้งนี้ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ พูดถึง "กระบวนการซ่อมทำของเรือหลวงสุโขทัย มีขั้นตอนตั้งแต่การนำเรือเข้าอู่แห้ง ฉีดน้ำทำความสะอาดสิ่งสกปรกและพ่นทราย เพื่อลอกเพรียงและสีของตัวเรือใต้แนวน้ำ จากนั้นจะทำการสำรวจอุปกรณ์ใต้น้ำต่างๆ เช่น โดมโซนาร์ ตรวจสอบวัดระยะ เบียดของแบริ่งรองรับเพลา ตรวจสอบระบบใบจักร"


โดยจุดตรวจวัดความหนาของแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำและเหนือแนวน้ำ ซึ่งเกิดจากการผุกร่อนตามระยะเวลา ก็จะทำการตัดเปลี่ยนแผ่นเหล็กตัวเรือที่มีการชำรุด โดยการตัดเปลี่ยนบรรจุแผ่นเหล็กใหม่ด้วยแผ่นเหล็กทนแรงดึงคุณภาพสูง High Tensileก่อนทำสีตัวเรือใต้แนวน้ำตามมาตรฐานเพื่อป้องกันการผุกร่อนของตัวเรือ นอกจากนั้นจะมีงานที่ไม่สามารถซ่อมทำขณะเรือลอยอยู่ในน้ำได้ เช่น การตรวจสอบและซ่อมทำลิ้นน้ำที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด รวมถึงการติดสังกะสีกันกร่อน


ทั้งนี้ภายหลังการซ่อมทำแล้ว ได้มีการตรวจสอบแนวเชื่อมด้วย Visual Check และ Vacuum Test ตามมาตรฐานคุณภาพ ของกรมอู่ทหารเรือก่อนการทดลองเรือในทะเลจริง


นอกจากนี้ โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่า กรมอู่ทหารเรือ เป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานและความเชี่ยวชาญการซ่อมและสร้างเรือของกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือที่มีมาอย่างยาวนาน และผ่านผลงานการซ่อมเรือและสร้างเรือมามากมาย


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/aL0pVg0tit4

คุณอาจสนใจ

Related News