เลือกตั้งและการเมือง

“นิโรธ” คาดจ้างตรวจ GT200 เป็นงบค้างท่อ พร้อมตัดหากไม่จำเป็น

โดย pattraporn_a

6 มิ.ย. 2565

43 views

รองอัยการ ออกมาเปิดเผยว่าคดีนี้สิ้นสุดไปแล้ว ศาลสั่งบริษัทที่ขาย จีที200 จ่ายเงินให้กองทัพบกแล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์จีที 200 แล้ว ขณะที่กรรมาธิการงบประมาณ จากพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า งบประมาณดังกล่าวอาจจะเป็นงบค้างท่อ ซึ่งหากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็น กรรมาธิการสามารถตัดงบส่วนนี้ได้


นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกระทรวงกลาโหมออกมาระบุว่า ทางสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้กองทัพบกดำเนินการตรวจเครื่อง GT200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่อง ทั้ง 757 เครื่อง เพื่อใช้สู้คดีในศาลปกครองจนนำไปสู่การดำเนินการจ้างไปที่ สวทช.เป็นเงิน 7,570,000 บาท


โดยนายประยุทธ์ ได้ไล่เรียงไทม์ไลน์ในคดีนี้ให้ฟัง และสรุปว่า คดีนี้ได้สิ้นสุดไปแล้ว หลังจากบริษัทเอกชนที่ขายเครื่องจีที 200 ถอนการยื่นอุทธรณ์คดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (2565) และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเมื่อเดือนมีนาคม ให้คดีนี้สิ้นสุดตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คือ ให้ บริษัทเอกชน ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท ตอนนี้จึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบเครื่องจีที 200 แล้ว


ทางด้าน นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้เปิดเผยถึงไทม์ไลน์การฟ้องคดีจีที 200 อย่างละเอียด นับตั้งแต่กองทัพบกขอให้ทางอัยการฟ้อง เมื่อปี 2560 จนสุดท้ายคดีสิ้นสุดด้วยการที่เอกชนจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กองทัพบก รวม 683 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา


13 ม.ค. 60 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับหนังสือจากกองทัพบก ให้จัดอัยการยื่นฟ้อง บริษัท เอวิเอ แซทคอมฯ กับพวก กรณีซื้อขายเครื่อง GT200 รวม 12 สัญญา วงเงิน 683,900,000 บาท


20 ม.ค.60 อัยการแจ้งให้กองทัพบกส่งเครื่อง GT200 ไปตรวจพิสูจน์ทั้งหมดรวม 757 เครื่อง เพื่อให้ทราบว่าเป็นของที่ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาจริง


27 เม.ย. 60 อัยการยื่นฟ้อง บริษัทเอวิเอฯ, นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯ, ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะแบงค์การันตี (วงเงิน 56 ล้านบาทเศษ), ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะแบงค์การันตี (วงเงิน 6 ล้านบาทเศษ) โดยยื่นฟ้องทุนทรัพย์ทั้งหมด 687,691,975 บาท


28 ธ.ค. 60 ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดี โดยให้เหตุผลเนื่องจากขาดอายุความ


1 มิ.ย. 61 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า คดีไม่ขาดอายุความ และสั่งให้ศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณา


1 ก.ย. 64 ศาลปกครองกลางคำพิพากษาว่า เครื่อง GT200 จำนวน 757 เครื่อง เป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ตามสัญญา พิพากษาให้
-บ.เอวิเอฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท
-ธนาคารกสิกร ในฐานะแบงค์การันตี รับผิดชอบในวงเงิน 56,856,438 บาท
-ธนาคารกรุงเทพฯในฐานะแบงค์การันตี รับผิดชอบวงเงิน 6,195,452 บาท
-ยกฟ้องนายสุทธิวัฒน์ ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯ


8 ก.ย. 64 สำนักงานอัยการสูงสุดได้แจ้งผลคดีให้กองทัพบกทราบ


23 ก.ย.64 ผู้ถูกฟ้องทุกคนยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด


8 มี.ค. 65 อัยการยื่นอุทธรณ์ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ศาลยกฟ้อง ร่วมรับผิดด้วย


7 ก.พ.65 ผู้ถูกฟ้องที่ 1 (บ.เอวิเอฯ ) ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์


7 มี.ค.65 ศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์คดี คดีจึงเป็นอันถึงที่สุด ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คือ ให้ บ.เอวิเอฯ ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท


ขณะที่ นายนิโรธ สุนทรเลขา กรรมาธิการงบประมาณ จากพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า งบประมาณดังกล่าวอาจเป็นงบค้างท่อ ระหว่างสู้ในศาล และกองทัพบกต้องใช้หลักฐานการตรวจสอบว่าใช้ไม่ได้จริงไปพิสูจน์และสู้คดี ต้องมีสถาบันตรวจสอบที่น่าเชื่อถือรับรอง ซึ่งส่งผลต่อการแพ้ชนะคดี แต่หากค้างท่อมาแล้วพบว่า ไม่จำเป็นต้องดำเนินการแล้วกรรมาธิการงบฯของสภาฯก็พร้อมตัดได้ ไม่ต้องกังวลในประเด็นนี้



ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/kR68sjfX1CE 

แท็กที่เกี่ยวข้อง  

คุณอาจสนใจ