เลือกตั้งและการเมือง

กต.คอมเฟิร์ม 19 เขตเศรษฐกิจเอเปก ร่วมประชุมเอเปก 2022 ขาดเพียง “รัสเซีย” ยังไม่ชัดเจน

โดย paranee_s

1 พ.ย. 2565

188 views

วันนี้ (1 พ.ย. 2565) กระทรวงการต่างประเทศ จัดบรรยายผลการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 3/2565 ซึ่งมีการบรรยายโดย นายภควัต ตันสกุล อธิบดีกรมพิธีการทูต นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกของไทย


โดยนายเชิดชาย กล่าวถึงผลการตอบรับจากผู้นำเขตเศรษฐกิจในการเข้าร่วมงานประชุมเอเปกว่า มีผู้นำเขตเศรษฐกิจจำนวน 15 คนที่จะมาร่วมงานประชุมด้วยตนเอง ส่วนอีก 4 เขตเศรษฐกิจส่งผู้แทนมาร่วมงานประชุมแทน ได้แก่ รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ผู้แทนจากมาเลเซีย และผู้แทนจากเม็กซิโก


ทั้งนี้ ยืนยันว่า ประเทศที่ยังไม่มีการสื่อสารอย่างชัดเจน มีแค่เพียงเขตเศรษฐกิจเดียวคือ ประเทศรัสเซีย


นายเชิดชาย ยังชี้แจงถึงการประชุมหารือที่สำคัญในงานประชุมเอเปก ได้แก่


วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานร่วมในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 33 หรือ 33 rd APEC Ministerial Meeting (AMM) ซึ่งจะหารือในหัวข้อ Balanced, Inclusive and Sustainable Growth และหัวข้อ Open and Sustainable Trade and Investment


“เอเปกก่อตั้งขึ้นมาในคอนเซปการค้าพหุภาคี วันนี้การค้าพหุภาคีก็ถูกท้าทายมากในประเด็นต่าง ๆ รายล้อมรอบตัวเรา ก็จะอยู่ในประเด็นสนทนาด้วย” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าว


ซึ่งในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกครั้งที่ 29 หรือ 29th APEC Economic Leaders’ Meeting (AELM) ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุม ได้แก่


การประชุมช่วงที่ 1 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เขื่อมโยงกันสู่สมดุล” (OPEN CONNECT BALANCE) ที่กรอบการหารือจะขยายสู่ระดับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ของเอเปก


การประชุมช่วงที่ 2 จะหารือแบบทวิภาคี ได้แก่ กัมพูชาในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ฝรั่งเศสในฐานะมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ และซาอุดีอาระเบียในฐานะแขกของรัฐบาล


“การประชุมในกรอบเอเปกนั้น เราเน้นบรรยากาศการพูดคุยที่ไม่ใช่ผ่อนคลาย แต่ไม่เป็นทางการมากนัก เราไม่มีการจำกัดว่าผู้นำจะพูดอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นลำดับประเด็นเท่านั้นที่จะจัดเอาไว้ ดังนั้น ส่วนใหญ่ผู้นำก็จะว่ากันหน้างาน” อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าว


นายเชิดชาย ยืนยันว่า ผลลัพธ์หลักของการประชุมเอเปกนั้นอยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่


1. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีเอเปก ครั้งที่ 33

2. ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29

3. ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy)


ด้านนายภควัต ตันสกุล อธิบดีกรมพิธีการทูต ชี้แจงว่าท่าอากาศยานที่จะใช้รับรองผู้ร่วมงานประชุมเอเปกครั้งนี้ มีทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ กองบิน 6 (บน.6) เป็นหลัก ตลอดจนท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสุดท้ายคือ ท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่สำรองสำหรับการจอดเท่านั้นในกรณีที่จอดในกรุงเทพฯ ไม่เพียงพอ


ซึ่งพิธีต้อนรับที่ท่าอากาศยานจะมีตัวแทนรัฐบาลระดับรัฐมนตรีไปต้อนรับ ซึ่งจะพิจารณาผู้ต้อนรับจากความสัมพันธ์หรือการติดต่อกับประเทศนั้นด้วย ตลอดจนมีการจัดที่พักรับรองไว้ในโรงแรมกลางเมืองกรุงเทพฯ กว่า 20 แห่ง


นายภควัต ชี้แจงพิธีการว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในเวลา 08.45 น. จะมีพิธีต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมตามลำดับอักษร โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะสัมผัสมือ และบันทึกภาพร่วมกัน


ทั้งนี้ ระหว่างกำหนดการประชุมนั้น นางนราพร จันทร์โอชา ภริยานายกรัฐมนตรี จะนำคู่สมรสผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 9 คน เข้าชมและรับเลี้ยงอาหารเที่ยง ณ พิพิธภัณฑ์ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


เวลา 17.30 น. ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เวลา 20.30 น. นายกรัฐมนตรีเลี้ยงอาหารค่ำผู้เข้าร่วมงานจำนวน 300 คน ณ หอประชุมกองทัพเรือ สำหรับมื้ออาหารเป็นฝีมือเชฟชุมพล แสงไพร ตามแนวคิด Sustainable Thai Gastronomy ก่อนจะมีการแสดงทางวัฒนธรรมไทย ตลอดจนการจำลองเทศกาลลอยกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา

คุณอาจสนใจ

Related News