เลือกตั้งและการเมือง

‘สรยุทธ’ เปิด ‘ทรานซิสเตอร์’ กลางรายการ - รัฐบาลยกผลโพลวิทยุเข้าถึง ปชช. - เพจดังชี้เป็นของจำเป็นยามฉุกเฉิน

โดย nattachat_c

5 ต.ค. 2565

770 views

วานนี้ (4 ต.ค. 65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงนโยบายของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์การอุทกภัยและให้ความช่วยเหลือ ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 65 เกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร


โดยให้เน้นย้ำการแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น รวมทั้งจะต้องมีแผนสำรองด้านการสื่อสาร โดยนายกรัฐมนตรีย้ำให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านทางวิทยุ เพราะวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด อีกทั้งมีผลสำรวจข้อมูลยืนยันว่า สื่อวิทยุยังเป็นที่นิยมของประชาชนทุกช่วงวัย


นายอนุชา กล่าวว่า ตามประกาศคณะกรรมการ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ได้ระบุว่า ให้ผู้ประกอบกิจการทุกราย จัดเตรียมความพร้อมในการรับ หรือแสวงหาข้อมูล หรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อประโยชน์ในการออกอากาศ แจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ ซึ่งผู้ประกอบกิจการจะต้องจำแนกข้อมูลสำหรับแจ้งข่าวหรือเตือนภัยให้ประชาชนทราบ


นายอนุชา ยังเผยถึง ตัวเลขผลสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ จากจำนวนผู้ฟัง 3,655 คน อ้างอิงจากสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. และสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า อุปกรณ์หลักในการรับฟังวิทยุ จากการสำรวจพบว่า

  • ร้อยละ 68.9 ของกลุ่ม ผู้ฟังวิทยุยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์
  • ร้อยละ 19.3 รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทั้ง 3G 4G และ wifi
  • ร้อยละ 7.8 เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต
  • ร้อยละ 0.3 เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊ก แล็บท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา คลื่นที่ใช้ในการรับฟังรายการวิทยุ


นอกจากนี้ พฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จากข้อมูลจำนวนผู้รับฟังวิทยุคลื่นหลักในระบบ FM จำนวน 40 สถานี จากทุกช่องทาง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และข้อมูลการโฆษณาผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงคลื่นหลักในระบบ FM ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 36 สถานี อ้างอิงจาก บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ระบุถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุ ปี 2022 จำนวนผู้ฟังวิทยุรายเดือน แยกตามช่วงอายุ Generation

โดยข้อมูลล่าสุดในเดือน ส.ค.65 พบว่า

  • ผู้ฟังกลุ่ม Gen X อายุ 40-59 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังวิทยุมากที่สุดถึงกว่า 3.5 ล้านคน
  • ผู้ฟังกลุ่ม Gen Y อายุ 20- 29 ปี ฟังวิทยุกว่า 3.3 ล้านคน
  • ผู้ฟังกลุ่ม Baby Boomer อายุ 60-71 ปี ฟังวิทยุสูงเกือบ 2 ล้านคน
  • ผู้ฟังกลุ่ม Gen Z อายุ 12-19 ปี ก็มีการฟังวิทยุถึงกว่า 8 แสนคน


ซึ่งตัวเลขข้อมูลดังกล่าวนี้สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ช่องทางการสื่อสารผ่านวิทยุเป็นช่องทางที่ยังได้รับความนิยมและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย


ในช่วงที่เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศขณะนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสื่อสารถึงประชาชนในทุกช่องทางการสื่อสาร เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านทุกช่องทาง ไปถึงชุมชน หมู่บ้าน ให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในเบื้องต้น


ซึ่งวิทยุถือได้ว่าเป็นสื่อที่ยังเข้าถึงประชาชนได้ดีที่สุด มีแทบทุกตำบล ทุกอำเภอ มีความเสถียร มีกฎ กติกา ที่ชัดเจน ที่จะต้องออกอากาศในเวลาที่มีภัยพิบัติ

--------------

เพจ สาระรอบรู้ ทั่วทุกมุมโลก ได้โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า 

"“เก่าแต่เก๋า” มารู้จักกับวิทยุ อุปกรณ์ช่วยเหลือมาตรฐานสากลคราวเกิดภัยพิบัติ!


ล่าสุด ที่มีข่าวว่าท่านนายกเขาแนะนำให้ใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการในการสื่อสารแจ้งเตือนเหตุน้ำท่วมให้กับประชาชน ช่วงที่ระบบสื่อสารล่ม ส่วนตัวผมก็ว่าถูกแล้วนะเพราะวิทยุจริง ๆ แล้วก็เป็นระบบที่ฟังดูเหมือนเก่า แต่สรรพคุณของมันนั้นเก๋ากว่าที่ใครหลายคนคิด เพราะนอกจากจะทำให้สื่อสารระยะไกลได้แบบมีประสิทธิภาพแล้ว วิทยุเองก็เป็นของที่ตามหลักสากลเขาใช้กันในยามเกิดภัยพิบัติอีกด้วย แถมจริง ๆ แล้วมันก็ยังถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น รถยนต์ทุกคันก็มีการติดตั้งวิทยุ ดังนั้นระบบนี้ถึงจะเก่าแต่ก็ยังทันสมัยใกล้ตัวทุกคนนะ


หรืออย่างสภากาชาดอเมริกัน (American red cross) ก็ได้จัดให้วิทยุสื่อสาร เป็น Survival Kit หรือชุดอุปกรณ์เอาตัวรอดลำดับต้น ๆ ที่สำคัญพอกับน้ำและอาหารเลย หรืออย่างประเทศญี่ปุ่นเองที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเองก็ใช้วิทยุที่ปั่นไฟจากมือในการรับฟังข่าวสาร ส่วนในอังกฤษเองก็มีการแนะนำให้ทุกบ้านมี Grab & Go bag ซึ่งจะบรรจุสิ่งของจำเป็น หนึ่งในนั้นคือวิทยุทรานซิสเตอร์อีกด้วย


เพราะถ้าหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ วิทยุซึ่งใช้ระบบคลื่นสั้นแบบ AM คลื่นลักษณะเดียวกับที่ใช้ในวิทยุสื่อสารของทหาร นั่นทำให้ไม่ว่าจะอยู่ไกลลึกเข้าไปในป่าแค่ไหนเขาก็รับสัญญาณได้หมดและสามารถติดต่อสื่อสารกันได้แบบไม่มีสะดุด จึงเหมาะแก่การแจ้งเตือนภัยพิบัติ


ซึ่งถ้าหากเทียบกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้วผมบอกได้เลยว่าต่างกันมาก อย่างวิทยุมันส่งสัญญาณได้ไกลและไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง แต่ในขณะที่อินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องใช้ตัวกลางอย่างไฟเบอร์ออปติดหรือสายเคเบิลทองแดง และการปล่อยสัญญาณไวไฟ มันก็ได้แค่ในระยะสั้น ๆ เท่านั้น และถ้าหากอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป ผมมั่นใจเลยว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็คงเข้าไม่ถึงอย่างแน่นอน


ส่วนคำว่า “วิทยุทรานซิสเตอร์”  มันมาจากชื่อเรียกเดิม เนื่องจากในสมัยนั้น ใช้ทรานซิสเตอร์เป็นหลัก แต่วิทยุในปัจจุบันนั้น ใช้ IC (Integrated Circuit) กันหมดแล้ว เพราะมันถูกกว่า ประสิทธิภาพดีกว่า แต่แค่หลายคนยังติดปากเรียกว่า วิทยุทรานซิสเตอร์เท่านั้นเอง


แหม๋ะพอรู้แบบนี้ผมเองก็อยากจะซื้อวิทยุติดไว้สักเครื่องเหมือนกันนะ เพราะนอกจากจะเอาไว้ใช้ฟังเพลงแล้วเนี่ย ประโยชน์ของมันยังมากมายอีกด้วย

#OpenUp #วิทยุทรานซิสเตอร์

-------------

นายวสันต์ รู้ธรรมสุขถาวร อายุ 42 ปี เจ้าร้านขายวิทยุทรานซิสเตอร์ ในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ที่ร้านขายมาโดยตลอด เพราะลูกค้ามาถามซื้อเป็นประจำ ส่วนใหญ่จะมีผู้สูงอายุมาซื้อเอาไว้เปิดฟังข่าวสาร ฟังรายการเพลง โดยเฉพาะคนสูงอายุ จะเอาไปลุ้นการออกฉลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่กลางทุ่งนา


แต่ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่มาหาซื้อด้วย ให้เหตุผลว่าจะซื้อไปฝากผู้ใหญ่ที่อยู่บ้านเป็นของขวัญ เพราะเป็นของขวัญที่ถูกใจและราคาถูก ลงทุนไม่กี่ร้อยบาท ก็ได้เห็นผู้ใหญ่ชื่นใจ ยอมรับว่าชื่นชมในความคิดของนายกฯที่อยากให้หันมาใช้วิทยุทรานซิสเตอร์บ้าง เพราะเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ดี หากเกิดภัยธรรมชาติ แล้วขาดการติดต่อจากโลกภายนอก


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/HbcVra6Buy4

คุณอาจสนใจ

Related News