เลือกตั้งและการเมือง

รองโฆษกรัฐบาล โต้เพื่อไทย ยันนายกฯ มีนโยบายดันไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโลก

โดย paranee_s

15 ก.ค. 2565

171 views

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากกรณีที่นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เชียงราย และคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาให้ความเห็นต่อกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงยุทธศาสตร์ 3 แกน โดยระบุว่านโยบายการผลักดันของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเพียงการขายฝัน เพราะไม่มีนโยบายหรือมาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร ไม่มีการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูงนั้น


จึงขอแจ้งและให้ข้อมูลว่า นายวิกรมและคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยทราบว่า นายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายและวางแผนงานเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยการกำหนดให้ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต และมีการวางแนวทางขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือคณะกรรมการ EV ขึ้นมาดูแล และขณะนี้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีผลบังคับใช้แล้วอย่างครบวงจร


“ตามที่นายวิกรมได้แจ้งว่าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยได้ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ เรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามา 3-4 ปีแล้ว นับเป็นเรื่องที่ดีที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคต่างๆ จะได้ร่วมกันในการหาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งในเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้มีนโยบายมาตั้งแต่แต่ปี 2558 และมีแผนงานผลักดันต่อเนื่องมาโดยลำดับ จนขณะนี้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการรองรับ และความร่วมมือกับภาคเอกชนโดยครบวงจรแล้ว” น.ส.ไตรศุลี กล่าว


รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามเป้าหมายของรัฐบาล ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการ EV ต้องการให้ภายในปี 2573 ประเทศไทยจะมีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ในไทย โดยรัฐบาลมีแพคเกจส่งเสริมการลงทุนทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อรักษาความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย


สำหรับแพคเกจในระยะสั้น เพื่อสร้างความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์ ระหว่างปี 2565-2568 รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมเป็น 2 ระยะ (ตามมติ ครม. วันที่ 15 ก.พ. 2565) นอกจากนี้ มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งส่วนของรถยนต์ รถโดยสาร จักรยานยนต์ เรือไฟฟ้า ผู้ผลิตชิ้นส่วน และแบตเตอรี่


ทั้งนี้ สำนักงานบีโอไอก็ได้รายงานว่านักลงทุนได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา บีโอไอแจ้งว่า เฉพาะกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ขณะนี้มีการขอรับการส่งเสริมแล้วจำนวน 16 โครงการ จาก 10 บริษัท รวมเงินลงทุน 4,820 ล้านบาท และมีโครงการที่ได้รับส่งเสริม การลงทุนในกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง (HIGH ENERGY DENSITY BATTERY) รวม 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 6,746.1 ล้านบาท

คุณอาจสนใจ

Related News