เลือกตั้งและการเมือง

ชื่นมื่น! 'ชัยวุฒิ-ชัชชาติ' เคลียร์ใจแถมชนหมัด ปมพีอาร์เก่ง - สรุปแนวทางจัดระเบียบสายสื่อสาร

โดย nattachat_c

5 ก.ค. 2565

11 views

วานนี้ (4 ก.ค. 65) ก่อนการประชุมร่วมระหว่างนายชัยวุฒิ ธนาคามานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยว เพื่อหาทางออกเรื่องสายสื่อสารรกรุงรัง พบว่า นายชัชชาติและนายชัยวุฒิ ได้ปิดห้องประชุมคุยกันประมาณ 10 นาที ท่ามกลางกระแสดราม่าเรื่องของนายชัยวุฒิ ที่พูดถึงนายชัชชาติ ว่า PR เก่งกว่ารัฐบาล


หลังหารือเสร็จนายชัชชาติ และนายชัยวุฒิ ได้เดินมาพร้อมกันสื่อมวลชนจึงถามถึงประเด็นดังกล่าว ว่าเคลียร์ใจกันหรือยัง โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า “รักกันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรเลย ตนอ่านข่าวแล้วไม่ได้รู้สึกอะไร และต้องขอขอบคุณรัฐมนตรี ที่เชิญมาหารือกันในวันนี้ด้วย”


ขณะที่นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นายชัชชาติ เป็นรุ่นพี่วิศวะจุฬา รู้จักกันมานานแล้ว นับถือกัน ก่อนต่างฝ่ายจะยกมือไว้กัน “ส่วนที่บอกว่า PR เก่ง ถือเป็นการชมรุ่นพี่ ที่ทำเรื่องประชาสัมพันธ์เก่ง เราก็จะต้องไปศึกษาทำตามแบบ เพราะท่านทำไว้ดีแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร”


ส่วนคำพูดที่หลายคนนำไปตีความว่า เป็นการแขวะ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนพูดดี จิตใจผมดีนะ แต่สื่ออาจจะไม่เข้าใจ

-------------

ด้านการหารือ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินการจัดระเบียบสายเป็นระยะอยู่แล้วส่วนเรื่องการเอาสายสื่อลงใต้ดิน บางช่วงมีสายจำนวนมาก ทำให้ทัศนียภาพไม่สวยงาม โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ทำแล้ว แต่ยังมีอีกหลายจุดที่ไม่ได้ทำ ทั้งนี้ก็จะต้องมีการทำงานร่วมกัน ทั้งโอเปอเรเตอร์ กสทช. และต้องประสานงานซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย ขอขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. พร้อมชื่นชมว่าท่านเป็นผู้ว่าฯ เป็นคนเก่งทำงานประทับใจกับประชาชนวันนี้ก็เป็นโอกาสทำงานร่วมกับให้ประชาชนส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายถ้าได้ข้อสรุปจะแจ้งอีกครั้ง


ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะจัดการสายสื่อสาร และเป็นสิ่งที่ประชาชนถาม และต้องการให้จัดการ ซึ่งที่ผ่านมามีเรื่องไฟไหม้ ที่มีผลต่อเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นการเอาสายลงดินก็ต้องมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกสทช. โอเปเรเตอร์ เจ้าของท่อ และ กทม.


และวันนี้ กทม.มาในฐานะผู้ดูแลความสะอาดของเมือง เพราะตามพรบ.ความสะอาด ม.39 ห้ามทำการพาดสายไฟเว้นได้รับอนุญาตจาก กสทช. และสายที่ไม่ถูกต้องต้องเอาออหให้หมด แล้วค่อยเอาสายลงใต้ดิน เพราะสุดท้ายไม่อยากให้มีค่าใช้จ่ายที่แพง ต้องเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้ จะต้องทำเป็นขั้นตอนถ้ามีแนวทางชัดเจนเชื่อว่าผลประโยชน์จะอยู่กับพี่น้องประชาชน


ส่วนกรณีที่ กสทช. รายงานว่ามีการดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสาร 800 กิโลเมตร ภายในปีนี้ นายชัชชาติ กังวลว่าอาจจะทำไม่ได้ตามเป้า ในแผน 800 กิโลเมตร แต่ กทม.จะสนับสนุนเต็มที่เพื่อให้ในอนาคตจะสามารถเพิ่มเป้าหมายต่อได้เป็น 1000 กิโลเมตร และอยากให้กำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน


ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. บอกในที่ประชุมช่วงหนึ่งว่า กสทช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ด้วยอำนาจหน้าที่ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ทั้งนี้ ได้สะท้อนปัญหาของ กสทช. มองว่า กทม. กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT อาจจะคิดค่าบริการสูง จึงอยากขอให้ NT ลดค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินให้จากเดิมกิโลเมตรละ 9,000 บาท ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะทำคือ หากผู้ประกอบการจะมาขอพาดสายใหม่ จะต้องให้ไปถอนสายเก่าก่อน และเส้นบางเส้นมีทั้งเสาและท่อด้วย

--------------

นายชัชชาติ กล่าวว่า จากการประชุมโดยมีหัวข้อร่วมพูดคุยหลักๆ 2 ประเด็น


เรื่องที่ 1 ต้องจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังก่อน แม้ยังไม่ต้องลงดินทันที แต่ก็สามารถนำสายที่ไม่ใช้ควรรื้อออกให้หมดก่อน ซึ่ง กสทช.มีแผนดำเนินการโดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือยูโซ่ (USO) เข้ามาอุดหนุน  


คาดว่าปี 2565 ตั้งเป้า 800 กิโลเมตร ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมาก และมีสายสื่อสารพาดผ่านหนาแน่น ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานจัดทำดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน (KPI) แต่ละเดือนแล้วมาพิจารณาในพื้นที่ต่าง ๆ ว่าต้องรื้อเท่าไหร่ ซึ่งต้นทุนในการรื้อเท่าเดิม แต่เวลามีค่ามากมายมหาศาล จึงต้องเร่งทำและทำต่อเนื่องไปจนถือปี 2566


โดยจะเริ่มทำพื้นที่เร่งด่วนก่อน 350 กิโลเมตร แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย ขณะนี้ล่วงมาถึงเดือนกรกฎาคมแล้ว ซึ่งมีรายงานว่าทำไปได้เพียง 20 กิโลเมตร เท่านั้น ทั้งนี้เราจะต้องผลักดันให้ได้โดยเป็นสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องสอดคล้องที่ตนได้เคยให้นโยบายรายเขตไว้ให้ดูพื้นที่ที่เป็นต้นแบบ


เรื่องที่ 2 การนำสายสื่อสารลงดิน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา กทม.อาจจะรู้เรื่องแค่ข้อมูลบริษัทเคที แต่อย่างน้อยก็มีเอ็นทีที่มีท่อเก่าอยู่ โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่สุดของประชาชน ถ้าคิดค่าเช่าแพง สุดท้ายจะเป็นภาระของผู้บริโภค ซึ่ง กทม.ไม่มีปัญหา แต่ต้องคุยถึงวิธีการใดจะนำมาใช้ต่อไป


สำหรับการนำสายลงดินก็มีต้นทุนทั้งสองฝ่ายทั้งผู้ทำท่อ และผู้ให้บริการเครือข่ายว่าสายที่อยู่บนดินไม่สามารถนำลงใต้ดินได้ ก็ต้องมีเรื่องการลงทุนเพิ่มเข้ามาแต่ก็ต้องทำให้เหมาะสม อย่างน้อยขั้นตอนแรกที่จัดระเบียบจะทำให้ความรกรุงรังน้อยลง และคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมได้ ตั้งแต่ต้นเดือนหน้าเป็นต้นไป


นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ในส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารทาง กทม. อาจจะต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด มาตรา 39 จัดระเบียบสายที่รกรุงรัง หลังจากนี้จะต้องพิจารณาอนุญาตเฉพาะสายสื่อสารที่ กสทช. อนุญาตให้ใช้งานร่วมได้ และจะต้องมีการกำหนดค่าปรับ หลังจากนี้หากใครมาใช้งานร่วมโดยไม่มีใบอนุญาตก็จะต้องถูกดำเนินการ ตั้งข้อหาเพื่อไม่ให้เกิดกลุ่มที่มาลักลอบพาดสาย



ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวย้ำว่าการจัดระเบียบเรื่องสายสื่อสารรัฐบาลมีการ ตั้งงบประมาณกลางมา 700 ล้านบาท เพื่อจัดเก็บสายเก่าให้เรียบร้อยและจัดทำสายใหม่ขึ้นมา นโยบายนี้จะมีการนำไปทำทั่วทั้งประเทศต่อไป



สำหรับการหารือในวันนี้กับผู้ว่าฯ เพื่อเป็นการคุยเรื่องการนำสายไฟลงใต้ดิน บางส่วนเป็นท่อที่มีอยู่แล้วบางส่วนจะต้องมีการทำใหม่ แต่ทั้งนี้พื้นที่ที่จะดำเนินการเป็นฟุตบาทของ กทม. ต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลางระหว่าง กทม. กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำงานร่วมกันหากตกลงได้เร็วก็จะดำเนินการได้รวดเร็ว



ทั้งนี้การนำสายลงใต้ดิน จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า การจัดการสายแขวน 10 เท่า ดังนั้นจะนำสายทุกอย่างลงไปใต้ดินไม่ได้เพราะจะเป็นภาระต่อภาคเอกชน ซึ่งผู้บริโภคอาจจะต้องเสียค่าบริการมากขึ้น จึงไม่อยากให้ประชาชนต้องเดือดร้อนในเรื่องนี้



ส่วนตัวเลขงบประมาณการนำสายไฟลงดินที่ประเมินไว้ 2 หมื่นกว่าล้านบาท ก่อนหน้านี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT  ตั้งไว้ ต้องมาพิจารณาก่อนว่าหลังนำร่องไป 7 กิโลเมตร มีผู้มาเช่าหรือไม่และราคาต้นทุนเท่าไหร่ ซึ่งถ้าหากทำมาแล้วและไม่มีผู้มาเช่า ก็จะไม่เดินหน้าต่อเพราะไม่คุ้มค่า ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาร่วมกันพิจารณาหาทางออกร่วมกันต่อไป


ส่วนกรณีที่มองว่าท่อร้อยสายของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ไม่มีประสิทธิภาพ จากการตรวจสอบพบว่าบางส่วนยังคงใช้งานได้บางส่วนต้องปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งถ้าในด้านการลงทุนก็จะใช้งบประมาณน้อยกว่า ทั้งหมดนี้ก็จะต้องคุยกับภาคเอกชนว่ายินดีจะมาลงทุนหรือไม่ซึ่งรัฐบาลก็จะต้องมีการหารือและอาจจะต้องสนับสนุนบางส่วน


นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ได้พูดคุยเบื้องต้นกับทาง กสทช. เพื่อให้ช่วยดูแลงบประมาณการนำสายไฟลงดิน โดยนายชัชชาติ แซวกลับว่าเมื่อครู่ท่านบอกว่าจะช่วยหลักหมื่นล้านบาท แต่ก็อาจจะกลายเป็นร้อยเปอร์เซนต์ก็ได้นะ ก่อนที่นายชัยวุฒิ จะตอบกลับว่า “ดูแล้วหมื่นล้านก็พอไม่ต้องถึงสองหมื่นล้านบาท”


นายชัยวุฒิ ระบุว่า “การจัดระเบียบสายไฟลอยฟ้าจะเร่งทำก่อน เพราะจะทำให้สายที่พาดผ่านมีระเบียบมากขึ้น ขณะเดียวกันการนำสายลงใต้ดินจะทำเป็นช่วงๆ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการจัดระเบียบสายไฟฟ้าบนดินถึง 10 เท่า หากคำนวณง่ายๆ เช่น ค่าเช่าสายไฟฟ้าบนดิน 300 บาท หากลงใต้ดินค่าเช่าจะ 3,000 บาท เพราะท่อใต้ดินมีการลงทุนสูง ดังนั้นการจะทำทั่วกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และอาจเป็นภาระต่อโอเปอเรเตอร์ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคด้วย”


ขณะที่ภาพรวมนายชัชชาติ ยืนยันว่า ความเป็นระเบียบจะเห็นแน่นอนภายในปีนี้ จะเห็นทิศทางแน่นอน ส่วนประเด็นการเปลี่ยนผู้บริหาร KT จะทำให้คุยกับ NT ง่ายขึ้นหรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยแต่ก็จะต้องดูตัวเลข เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้ความรู้สึก และต้องยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง หลังจากนั้นนายชัชชาติ ขออนุญาตนายชัยวุฒิ จับมือและชนหมัด


จากนั้นนายชัชชาติ ได้ลงพื้นที่สำรวจการจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่ถนนสุรศักดิ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ

--------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/AdajceuQyMw


คุณอาจสนใจ