เลือกตั้งและการเมือง

'สมรสเท่าเทียม' ได้ไปต่อ! หลังสภาโหวตรับ 'ก้าวไกล' ซัดแรง "เขาแต่งงานกับใคร ท่านยุ่งอะไรด้วย"

โดย thichaphat_d

16 มิ.ย. 2565

126 views

เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย. 65) ที่อาคารรัฐสภา วันนี้มีการประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ฉบับของพรรคก้าวไกล ที่ คณะรัฐมนตรีนำไปพิจารณาก่อนรับหลักการก่อนหน้านี้


ส่วนอีก 3 ฉบับ เป็นร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงยุติธรรมเสนอ และฉบับ ของ พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ กับ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คณะรัฐมนตรี โดยกระทรวงยุติธรรมเสนอ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนเข้าสู่การพิจารณา ที่ประชุมได้ถกเถียง เนื่องจาก ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกล มีการเสนอ เข้าสู่การพิจารณามาก่อน จำเป็นต้องพิจารณาก่อนเป็นลำดับแรก โดยฝ่ายรัฐบาลห่วงว่าเนื่องจากเป็นกฎหมายลักษณะดียวกัน หากมีการแยกพิจารณาและเมื่อลงมติรับหลักการไปแล้ว ฉบับฝ่ายรัฐบาลก็จะตกไปโดยอัตโนมัติ


โดยนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน วิปรัฐบาล ได้ เสนอให้นำร่างกฎหมาย ทั้ง 4 ฉบับพิจารณาในคราวเดียวกัน แต่ละมติแยกกัน จนมีการประท้วงตอบโต้กันไปมาอยู่ราว 1 ชม. กระทั่ง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ต้องใช้วิธีลงมติ ประเด็นนี้ 3 ครั้ง เพื่อความชัดเจน โดยผลลงมติเสียงข้างมากเห็นด้วยตามที่ นายชินวรณ์ เสนอ รวมการพิจารณา ทั้ง4 ฉบับในคราวเดียวกัน ก่อนจะสามารถเข้าสู่การพิจารณาได้ในเวลา 11.50 น.


สำหรับการพิจารณา เริ่มต้นจากการให้ผู้เสนอกฎหมายได้ ชี้แจงรายละเอียด โดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่าพรรคก้าวไกลได้ผลักดันและเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มาตั้งแต่เดือน วันที่ 18 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นเดือนไพรด์ ซึ่งเป็นเดือนแห่งการฉลองความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีการรับฟังความเห็นประประชาชนมากกว่า 54,000 คน ซึ่งมากเป็นประวัติกาลในการรับฟังความเห็นเสนอร่างกฎหมาย


นายธัญวัจน์ ยอมรับว่าการเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีความจำเป็นต้องกระทบต่อกฎหมายอื่น ตามที่ฝ่ายรัฐบาลตั้งข้อสังเกต แต่เป็นการกระทบต่อกฎหมายอื่นเพื่อให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับ สิทธิ สวัสดิการ เช่นเดียวกับชาย-หญิง ทั่วไป และหากศึกษาในรายละเอียดจะพบว่าร่างกฎหมายที่เสนอไม่ได้กระทบไปถึงเรื่องการสืบสายโหลิต ของผู้หญิง-ชายทั่วไป บิดา มารดา และ เด็กยังมีสิทธิแฉกเช่นเดิม


ย้ำว่าความแตกต่างของกฎหมายสมรสเท่าเทียมของพรรคก้าวไกล กับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของคณะรัฐมนตรี นั้นต่างกันสิ้นเชิง โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการของราชการ หากจดทะเบียนคู่ชีวิต ของฉบับคณะรัฐมนตรี คู่ชีวิตจะไม่ได้สวัสดิการราชการร่วมกัน ไม่มีสิทธิลดหย่อนภาษีให้กัน


นายธัญวัจน์ กล่าวว่าการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ มีหลายหน่วยงานร่วมให้ความเห็น ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง หรือศาลยุติธรรม นั้นไม่มีปัญหา กับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่หน่วยงาน ที่มีปัญหา คือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเรื่องผิดธรรมชาติ


“ธัญ เป็นกระเทย ยืนอยู่ตรงนี้ ธัญเป็นธรรมชาติ ธัญ เป็นวิทยาศาสตร์ ที่มีลมหายใจ กระเทย LGBT ที่มาชุมนุมในวันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเรามีลมหายใจ ธัญไม่เข้าใจว่าโลกเราจะผลิตยานอวกาศไปทำไม เพื่อบินออกไปแล้วหยิบหินดาวอังคารมาบอกกับโลกใบนี้ว่า นี่คือวิทยาศาสตร์ นี่คือหินของดาวอังคาร เราบินไปไกลขนาดนั้น เพื่อยอมรับวิทยาศาสตร์นอกโลกแต่คนที่ยืนข้างๆท่านหรือเพื่อนของท่าน ท่านกลับไม่ยอมรับและมองว่าเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ” นายธัญวัจน์ กล่าว


นายธัญวัจน์ ยังกล่าวถึงงานวิจัยของรัฐบาล ที่พบข้อกังวลว่าร่างกฎหมายอาจขัดหลักศาสนาบางศาสนาโดยตั้งข้อสังเกตว่า การเชิญผู้มีความเชื่อทางศาสนามาให้ความเห็นกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้น มีเป้าหมายอะไร เพราะแต่ละศาสนามีความเชื่อของตัวเองอยู่แล้ว ส่วนตัวเคารพให้ความเชื่อของแต่ละศาสนา การนำความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงกัน ขอตั้งคำถามว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเกินไปหรือไม่ กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เหตุใดไม่วิจัยด้วยว่าประเทศไทยสามารถรับประทานเนื้อหมูได้หรือไม่ ขายยาคุมกำเนิดได้หรือไม่ เพราะมันผิดหลักศาสนา ย้ำว่าตนเองเคารพทุกศาสนา แต่เรื่องนี้เป็นเสรีภาพที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเลือกจดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ได้ แต่งานวิจัยที่เกิดขึ้นมีการตั้งคำตอบไว้อยู่แล้ว


เอาความเชื่อทางศาสนามาเชื่อมโยงเพื่ออะไร แต่ไม่ฟังเสียงเรียกร้องประชาชน แค่พื้นฐานจะใช้ชีวิตกับใคร ก็ยังไม่มีสิทธิมนุษยชนแบบ 100% แม้จะยอมรับแต่มีเงื่อนไขการยอมรับ เราไม่ได้เรียกร้องสิทธิ แต่สิทธิเหล่านี้ถูกพรากไป ทั่วโลกต่อสู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศ แต่ประเทศไทยกลับกดความเสมอภาคทางเพศไม่ให้เกิดขึ้น อย่าให้ประชาชนสิ้นหวังกลไกระบบรัฐสภา ครม.ที่ยกร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตอาจคิดเป็นชัยชนะตัวเอง แต่เป็นความพ่ายแพ้ของ LGBT เพราะสิ่งที่ยัดเยียดให้ คือ ความไม่เสมอภาค


นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ก.ก. อภิปรายว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตของครม.ไม่ตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ อยากให้รับหลักการร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปก่อนแล้วไปแก้ไขในชั้นกมธ.อีกครั้ง ร่างของพรรค ก.ก. แก้แค่ 3 คำ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ คือ 


1.การสมรสชาย-หญิง แก้เป็นการสมรสระหว่างบุคคล-บุคคล

2.สามีภริยา เป็นคู่สมรส

3.บิดามารดา เป็นบุพการี


ไม่มีความยุ่งยากอะไร อย่ามองแค่กฎหมายนี้เสนอโดยพรรค ก.ก. แต่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนหลายล้านคน อยากให้รับหลักการเพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียมกัน

-------------

นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. จ.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ตัวแทนชาว อ.บ้านโพธิ์ อ.บางปะกง และ อ.แปลงยาว อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) เกี่ยวกับร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่อนุญาตให้คนทุกเพศสมรสกันได้อย่างเท่าเทียม โดยอภิปรายว่า ตนไม่เข้าใจว่าทำไม ส.ส. บางคน ถึงมองว่าความรักของคู่รักกลุ่มเพศหลากหลายผิดธรรมชาติ และถ้าผิดธรรมชาติจริง มีใครเดือดร้อนบ้าง


"มันผิดหลักธรรมชาติแล้วมันอะไรครับ เสียหายตรงไหนครับ สร้างเขื่อนทุกวันนี้ผิดหลักธรรมชาติมั้ยครับ ใส่เสื้อผ้านี่ผิดหลักธรรมชาติมั้ยครับ เกิดมาไม่ได้ใส่เสื้อผ้านะครับ หรือว่าท่านเกิดมาใส่สูทตอนที่เกิดออกมาจากท้องแม่ สะสมนาฬิกาหรูอีก ผิดหลักธรรมชาติมั้ยครับ เกิดมาท่านไม่ได้ใส่นาฬิกานะครับ ผิดหลักธรรมชาตินี่มันหนักหัวใครครับ ผิดหลักธรรมชาตินี่มันทำร้ายจิตใจใครครับ มันทำให้ใครเดือดร้อนครับผิดหลักธรรมชาติ ท่านเป็นผู้คุมกฎธรรมชาติเหรอครับ ทำไมครับยอมรับว่าทุกคนมันเหมือนๆ กันมันเสียศักดิ์ศรีเหรอครับ ผมไม่เข้าใจ มันเสียความภูมิใจในการเกิดเป็นชายชาติชาตรีชายชาติบุรุษมากเหรอครับ" นายจิรัฏฐ์ กล่าว


"กฎหมายที่เรากำลังพูดถึง ไม่ได้พูดถึงการแต่งงานเลย ไม่ได้หมายถึงการสมรส ไม่พูดถึงการหมั้น ไม่ได้พูดถึงทรัพย์สินอะไรทั้งนั้น มันแค่พูดว่าคนเท่ากันได้รึยัง แค่นี้เอง คือท่านจะยุ่งอะไรกับเขานักหนา มันหนักหัวใครผมอยากจะรู้ ปล่อยให้เขาแต่งงานกัน ปล่อยให้คนมันเท่ากันเนี่ย เขาจะแต่งงานกับใคร ท่านยุ่งอะไรด้วย เขาไม่เชิญท่านไปงานแต่งอยู่แล้ว"


"ผมแค่อยากรู้ว่าการแต่งงานกันของเขาเนี่ย มันไปทำความเดือดร้อนให้ท่านตรงไหน เขาไม่เชิญท่านไปงานแต่งอยู่แล้ว ท่านไม่ต้องใส่ซองให้เขาหรอก"
------------

ในการประชุมสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ และ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก ชั้นรับหลักการ ทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้น เวลา 16.30 น. นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมได้แจ้งให้ที่ประชุมการลงมติในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ซึ่งที่ประชุมสภามีมติรับหลักการ 4 ฉบับ โดยแยกลงมติแต่ละฉบับ มีผลการลงมติรับหลักการดังนี้


1. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 4 เสียง


2. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 166 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง


3. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 168 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง


4. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง


ขณะที่บรรยากาศในห้องประชุม กลุ่ม สส.ก้าวไกล พากันดีใจกอดกัน พร้อมกับร้องไห้ หลังจากสภารับหลักการ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินเข้ามาบอกนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอว่า “เก่งมาก”


จากนั้นที่ประชุมได้มีการถกเถียงว่าจะใช้ร่างกฏหมายฉบับใดเป็นสร้างและหลักในการพิจารณา ในชั้นกรรมาธิการ โดยพรรคพลังประชารัฐเสนอให้ใช้ร่างของ ครม. เป็นร่างหลัก ขณะที่พรรคก้าวไกลเสนอให้ใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างหลัก ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอให้ใช้ร่างของพรรคก้าวไกลเป็นร่างหลัก จนกระทั่งประธานต้องขอมติจากที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติแยกการพิจารณา โดยมีมติให้ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตและร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ

พาณิชย์ ใช้ร่างของ ครม.เป็นร่างหลัก

-----------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/WPMUvDwa1p8

คุณอาจสนใจ

Related News