เลือกตั้งและการเมือง

กรมอนามัยประกาศ ใส่กัญชาในอาหารต้องแจ้งลูกค้า - 'อนุทิน' ย้ำใช้ได้แค่เมนูละ 2 ใบ

โดย thichaphat_d

16 มิ.ย. 2565

84 views

วานนี้ (15 มิ.ย. 65) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป


ซึ่งเนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ


โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข


การนำกัญชาไปใช้ที่ไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

1) กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท อยู่เดิม

2) ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

3) เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ

4) มีผลการศึกษาระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM 2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา


“ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้ หรือสัมผัสควันกัญชา สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือสถานที่อื่นใด หลีกเลี่ยงส่งเสริมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการ ส่วนบุคลทั่วไป ให้เลี่ยงการใช้เพื่อสันทนาการเช่นเดียวกัน และหากบุคคลใดหรือสถานที่ใดก่อให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา ซึ่งรบกวนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง ถือว่ากระทำการอันเป็นเหตุรำคาญตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

-------------

วันที่ 14 มิ.ย. 2565 เพจ Drama-addict ได้แชร์โพสต์ของเพจ Nont Bakery ซึ่งทางเพจ Nont Bakery ได้โพสต์รูปภาพ พร้อมระบุข้อความว่า

"เนื่องจากตอนนี้กัญชาเป็นวัตถุดิบยอดนิยมในการทำอาหารและขนม แต่ทางร้านไม่มีนโยบายในการเอากัญชามาผสมกันขนมของทางร้าน เนื่องจากทางร้านยังไม่มีข้ออมูลที่ชัดเจนและการศึกษาถึงในสัดส่วนการใช้ได้ดีพอ และ พอดี ทางเราจึงต้องขออภัยสำหรับความล่าช้าทางนวัตกรรมด้วยนะครับ ขอให้ลูกค้าที่น่ารักทุกท่าน อร่อยและเพลิดเพลินกับขนมที่ไม่มี CBD และ THC ไปก่อนนะครับ ในอนาคตถ้าสามารถผลิตขนมที่ใช้ CBD เป็นส่วนประกอบเพื่อให้ได้ขนมที่เป็นประโยชน์ทางร้านจะรีบศึกษาและทำอย่างไม่รีรอครับ  #อร่อยสดหมดทุกวัน #นนท์เบเกอรี่"


ส่วนเพจ Drama-addict ได้ระบุข้อความว่า
"ร้านไหนไม่ใส่ก็ประกาศแบบนี้เลยก็ดีครับ ผู้บริโภคที่ไม่อยากกินอาหารที่ผสมกัญชาจะได้เลือกซื้ออย่างปลอดภัยหายห่วง ไม่ต้องเสี่ยงเข้า รพ"

--------------

กรมอนามัยได้ออกประกาศ เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.65 กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย โดยสถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ  และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่

1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา

2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด

3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น

  • อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู
  • สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ

5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ

  • เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม
  • สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน
  • หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที
  • ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (CBD) ควรระวังในการรับประทาน
  • อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค

-------------

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีร้านอาหารใช้กัญชาประกอบอาหารแล้วผู้บริโภคมีอาการแพ้ ว่า คำแนะนำคือให้ใช้ใบกัญชาปรุงอาหารเพียง 2-3 ใบ ถ้าไม่เกินกำหนดก็ไม่มีอาการแน่นอน แต่หากเอาน้ำมันสกัดที่ไม่รู้ว่ามีปริมาณ THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักหรือไม่ แล้วเทไปทั้งขวดก็จะเกิดอาการแน่นอน ดังนั้นใช้นอกเหนือกฎหมายก็ผิดแน่นอน ต้องดำเนินคดี แต่หากใช้ใบมาวาง ใส่หม้อก๋วยเตี๋ยว 2-3 ใบก็ไม่เกิดเหตุการณ์นี้แน่นอน


“หากเราแพ้ก็ต้องไปดูว่าแพ้อะไร ในหม้อน้ำซุปมีส่วนผสมอื่นด้วยหรือไม่ แต่ถ้าเอาน้ำมันกัญชาไปใช้เกินปริมาณ ก็จะผิดกฎหมายยาเสพติด ถ้าเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจพบมากกว่า 0.2% ก็ผิดกฎหมาย” นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวย้ำว่า ผู้ปรุงอาหารจะต้องบอกว่ามีส่วนผสมของกัญชาอย่างไร ซึ่งกรมอนามัยออกประกาศว่าร้านอาหารต้องแจ้งว่าอาหารใดผสมกัญชา เพื่อให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งทุกวันนี้หลายร้านเอาตรงนี้มาเป็นจุดขายด้วย และขอย้ำว่าไม่ควรกินเกินวันละ 2 เมนู


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/b3HgfI2XvZ8


คุณอาจสนใจ

Related News