เลือกตั้งและการเมือง

"นายกฯ" แจง กู้เงินเพื่อประชาชน ย้ำ ไม่ได้จัดงบแบบเลือกที่มักรักที่ชัง

โดย paranee_s

2 มิ.ย. 2565

308 views

วันนี้ (2 มิ.ย. 2565) ในช่วงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2566 (ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ) เป็นวันที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นกล่าวว่า จากภารกิจต่างๆ จะเห็นได้ว่าเราต้องมีการเตรียมกำลัง มีการฝึก ฝึกร่วม การใช้อาวุธ การจัดหาอุปกรณ์ ที่ทำให้กำลังพลปลอดภัย มีศักยภาพในการทำสงคราม รวมไปถึงเรื่องขวัญกำลังใจ ย้ำว่ายังต้องเรียนรู้อีกเยอะ ว่าความมั่นคงเกี่ยวเนื่องกับเรื่องอื่นด้วย


นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของเรา มีการพัฒนามากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มากกว่าที่ประเทศไทยจะได้เตรียมตัวจัดหายุทโธปกรณ์ จากที่ฟังอภิปรายวันนี้ แม้ตนจะมีภารกิจอื่น แต่ก็ยังรับฟังความเห็นในการอภิปรายของ ส.ส.ทุกคน หลายสิ่งต้องให้รัฐมนตรีประจำกระทรวงชี้แจงรายละเอียด


ส่วนตนขอชี้แจงภาพรวมว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เป็นแหล่งเงินประเภทหนึ่งของการทำนโยบายรัฐบาล หากมองแค่สิ่งที่ปรากฏในเอกสารแล้ว แล้วตัดสินเลยว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร หรือประเทศไม่ได้อะไรนั้น ตนขอเรียนให้ทราบว่า รัฐบาลได้ทำงานโดยใช้แหล่งเงินหลายอย่าง


เรื่องรัฐบาลใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี บางเรื่องใช้เงินกู้ หรือเงินนอกงบประมาณดำเนินการ ส่วนการลงทุนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ปรากฏในงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น รัฐบาลจะดำเนินการโดยรัฐบาลจะร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตนขอสรุปให้ฟังว่า รัฐบาลจะทำอะไรต่อ หลายสิ่งทั้งจำนวนหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาจากเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท ทุกคนรู้ว่ามีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นในประเทศ หากไม่คิดถึงเงินยอดนี้ที่ต้องดูแลประชาชนนำมาฟื้นฟูอะไรต่างๆ เพื่อให้อยู่รอดในช่วงโควิดระบาด หนี้สาธารณะไม่ขึ้นถึง 60% อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงให้ดูตรงนี้ว่าเงินที่กู้มานำมาใช้ทำอะไร


นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องแหล่งเงินต่างๆ ยอมรับว่าหลายคนมองว่าเราไม่มีอนาคต โดยอันดับแรก คือเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายได้มีการพัฒนาสานต่อนโยบาย ในเรื่องของการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2558 ยืนยันว่าเป็นสิ่งใหม่ที่รัฐบาลดำเนินการมาหลายปีต้องใช้ระยะเวลา


“ที่ผ่านมาเราประมาณโชติช่วงชัชวาล แล้วเราไม่ได้ทำอะไรใหม่เลย เพราะฉะนั้นก็ทำให้รายได้ในประเทศลดลงตามลำดับ เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรมอย่างเดียว เราก็ปรับภาคของเราให้เป็นภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย รัฐบาลได้ส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ 5 อุตสาหกรรมเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น และในปัจจุบันเราก็ได้เพิ่มอีก 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย”


นายกรัฐมนตรี ยังบอกอีกว่า วันนี้ได้มีการผลิตหลายอย่างออกมาแล้วและมีการร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน เป็นที่น่ายินดีที่ต่างประเทศเริ่มสนใจแล้ว ส่วนในการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ เมื่อมีคนสนใจตนก็จะให้หน่วยงานในกระทรวงกลาโหมจัดซื้อมาใช้ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยและพัฒนาร่วมกันกับหลายประเทศ


สำหรับ 5 อุตสาหกรรมเดิม นายกรัฐมนตรีมองว่า ค่อนข้างมีคุณภาพ แต่ยังขาดนวัตกรรม ทำให้สินค้าไม่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้น ต้องเพิ่มเติมของเดิมที่มีอยู่แล้ว ที่เป็นรายได้ของประเทศ และต่อยอดอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นฐานของ GDP สร้างรายได้เข้าประเทศ เพื่อมาตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้เกิดการจ้างงานและรายได้ที่จะต้องใช้ทุนต่างๆ ดำเนินการ ซึ่งรัฐบาลต้องร่วมกันช่วยแก้ไขเงื่อนไขทางกฎหมาย การออกมาตรการทางภาษีมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน รวมถึงปลดล็อกข้อกฎหมายต่างๆ


นายกรัฐมนตรี พูดถึงโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการลงทุน และการบ่มเพาะ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของประเทศ EEC โครงสร้างพื้นฐานของ EEC ได้รับการพัฒนา เพื่อเป็นประตูสำคัญที่เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งของไทย และเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียแปซิฟิก นอกจากนี้ยังพัฒนาเรื่องเมืองแห่งนวัตกรรม ทั้งนี้ EEC ไม่ใช่โครงการของคนรวยแบบที่หลายคนกล่าวหา


นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญและวางแผนมาโดยตลอดคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดการลงทุนจริง ประชาชนเข้าถึงโอกาส นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประเทศแรกๆ ที่พร้อมเปิดประเทศด้วย 5G และโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค


สำหรับวิกฤติโควิด-19 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่มาก แต่รัฐบาลก็ทำตัวนโยบายที่ออกมา ได้เล็งถึงการสร้างความสมดุล ทั้งมิติของสุขภาพ และเศรษฐกิจมาโดยตลอด ยอมรับว่าเป็นนักกู้อย่างที่หลายคนกล่าวมา แต่ถ้าเรากู้มาเพื่อใคร กู้มาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกว่า 40 ล้านคน ช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานต่างๆ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนเยียวยาประชาชน หนี้สาธารณะต่อ GDP แม้จะสูงขึ้นแต่ก็ทำเพื่อประชาชน และหลายประเทศก็มีตัวเลขที่สูงกว่าไทยมาก ยืนยันว่ายังอยู่ในกรอบของความยั่งยืนตามกฎหมาย ได้รับลำดับที่ดีในการจัดลำดับการเงินการคลังระหว่างประเทศหลายแห่ง ที่ยังคงให้ระดับความเชื่อมั่นกับประเทศไทย เชื่อว่าสิ่งที่ทำไปจะตอบกลับมาทีหลัง


“ถ้าเกิดสถานการณ์ดีขึ้น รายได้ดีขึ้นทุกอย่างกลับมาปกติแล้ว การท่องเที่ยวดีขึ้น อะไรดีขึ้น ผมคิดว่ามันก็จะเบาลงแล้วแหละ แล้วเราก็จะได้ทยอยชำระหนี้ตามระเบียบ กฎหมายทุกประการ ทุกปีนะครับ”


นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงโควิดรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดสังคมไร้เงินสดเพิ่มมากขึ้น เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการพร้อมเพลย์และคิวอาร์โค้ด ฯลฯ โดยมีผู้ใช้ผ่านแอปฯ เป๋าตังค์ กว่า 50 ล้านคน ส่วนตัวไม่ได้อวยตัวเอง พูดเสมอว่าคนไทยทุกภาคส่วนเพราะประชาชน ต้องได้รับประโยชน์ หลายคนบอกว่าตนโทษคนนู้นคนนี้ อยากชี้แจงว่าแค่เพื่อระดมคนมาช่วยแก้ปัญหา


นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การจัดงบฯ ตนไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง อะไรที่จัดสรรให้ได้ก็จัดสรรไป ฉะนั้นไม่ต้องกังวล เพราะนึกถึงประชาชน ขณะเดียวกันก็ระวังเรื่องกฎหมายด้วย พร้อมขอให้คนทุกคนมองในหลายมิติ ซึ่งหลายเรื่อง (ร่าง พ.ร.บ.งบฯ) หากผ่านวาระ 2 ก็พร้อมปรับ พร้อมยืนยันว่า ตนไม่รังเกียจรังงอนใครทั้งสิ้น

คุณอาจสนใจ

Related News