เลือกตั้งและการเมือง

'ชัชชาติ' วอนอย่าเทียบนายกฯ ชี้ 'มวยคนละชั้น' ตนดูแลท้องถิ่น นายกฯอยู่ระดับรัฐบาล

โดย thichaphat_d

2 มิ.ย. 2565

1.6K views

วานนี้ (1 มิ.ย. 65) ภายหลังที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายและเปิดตัวทีมบริหาร กทม. ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า พร้อมเริ่มงานทันที


โดยเรื่องด่วนที่ต้องดำเนินการ คือเรื่องการแก้ปัญหารับมือน้ำท่วม ความปลอดภัย และเรื่องหาบเร่แผงลอย เพื่อหาข้อสรุปจุดที่สมดุล และเรื่องสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งวันนี้ (2 มิ.ย.) จะเชิญกรุงเทพธนาคม มาให้ข้อมูลสัญญาต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะมีคณะทำงานที่ทำมา 2-3 สัปดาห์แล้ว เพื่อทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส และจะนำข้อมูลไปหารือต่อรัฐบาล


ส่วนประเด็นเรื่องของงบประมาณปี 2565 ของ กทม. ที่เหลือไม่ถึง 100 ล้านบาท จะจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้พอดีนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่งบประมาณน้อยเพราะที่ผ่านมาอาจจะมีการลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและส่วนอื่น ๆ ทั้งนี้จึงไม่กังวลเรื่องงบประมาณ เพราะยืนยันว่านโยบาย 214 ข้อ อยู่บนพื้นฐานที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะ และไม่ได้มีโครงการเมกะโปรเจ็กต์


ซึ่งอะไรที่ไม่ได้ใช้เงินเยอะก็สามารถทำได้ก่อน เช่น ที่ได้เดินหน้าไปแล้วคือการใช้แอปพลิเคชันเป็นช่องทางร้องเรียนให้คนกรุงเทพฯ และหลายอย่างก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ส่วนนโยบายที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณนั้น ก็สามารถที่จะรองบประมาณปี 2566 ได้ รวมถึง กทม. ยังมีเงินสะสมกว่า 1 หมื่นล้านบาทด้วย


"เรารู้อยู่แล้วว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เราจะเห็นว่าไม่ได้มีพวกเมกะโปรเจกต์อะไรอยู่ในนี้อะ งั้นก็คงต้องจัดความสำคัญก่อน อะไรที่จัดเรื่อง ทำเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงินทำก่อนเลย อย่างเช่น ที่เราทำอาทิตย์ที่แล้วตัวแอปที่สามารถแจ้งเหตุ ประชาชนแจ้งเหตุได้เนี่ย ไม่ได้ใช้เงินสักกะบาทเลย แต่สามารถมีข้อร้องเรียนเข้ามา 20,000 กว่าเรื่องได้ งั้นหลายๆ เรื่องเนี่ย เทคโนโลยีไม่ต้องใช้เงิน เพราะฉะนั้นเราไม่ได้กังวลตรงนี้นะเพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ เพราะฉะนั้นหลาย ๆ เรื่องเดินได้โดยไม่ต้องใช้เงิน"


ผู้สื่อข่าวถามถึงการเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ ตอบว่าคงไม่ใช่ตอนนี้ เพราะไม่รู้จะคุยอะไรกับท่าน จะต้องโฟกัสเรื่องของเราก่อน รองผู้ว่าฯ และที่ปรึกษาจะต้องไปลุยงานก่อน


โดยวันธรรมดาก็จะลุยงานกับข้าราชการในการผลักดันนโยบาย ส่วนปัญหาต่าง ๆ ที่เร่งด่วน วันเสาร์-อาทิตย์ก็จะลงพื้นที่ดูหน้างาน ซึ่งคงมีการทำงานผสมกันไป โดยดูช่วงเวลาที่เหมาะสม นายชัชชาติ ย้ำว่าขอโฟกัสเรื่องงานในท้องถิ่นก่อน เพราะตนได้รับเลือกตั้งให้มาทำงานในท้องถิ่น และหากจะพูดคุยก็จะทำตามลำดับขั้นคือเข้าพบ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน


ส่วนประเด็นที่มีการเปรียบเทียบทางการเมืองระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าฯ กทม. นั้น นายชัชชาติยืนยันว่า "ผมดูแลระดับท้องถิ่น มวยคนละชั้น ท่านอยู่ระดับรัฐบาล ผมระดับท้องถิ่น" แต่นายกรัฐมนตรีเป็นระดับรัฐบาลที่บริหารงานทั้งประเทศ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีรอยต่อในการทำงานแน่นอน และตนเองทำงานได้กับทุกคน  


ทั้งนี้นายชัชชาติ ยังฝากถึงข้าราชการ กทม. ที่ทำงานมานานและยังไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งด้วยว่า รับประกันว่าจะให้ความเป็นธรรมในการบรรจุแต่งตั้ง โดยจะเชิญองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเข้ามาร่วมหารือถึงประเด็นนี้ในสัปดาห์หน้า


นายชัชชาติ ยังตอบคำถามเรื่องการย้ายศาลาว่าการ กทม. ไปรวมไว้ที่ กทม. 2 ดินแดง ที่เริ่มมีข้าราชการหลายคนไม่เห็นด้วยว่า ขอให้มองภาพใหญ่ที่ข้าราชการต้องรับใช้ประชาชน และตอนนี้ยังเป็นแค่แนวคิด เป็นเพียงนโยบายที่จะนับหนึ่ง โดยที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อดี ข้อเสีย และงบประมาณ และขอให้นึกถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

----------

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายสันติสุข กาญจนประกร ผู้ก่อตั้งแคมเปญรณรงค์ We’re all voters เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ยื่นหนังสือถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เพื่อขอช่วยผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จุดความหวังให้คนต่างจังหวัด อยากมีอนาคตที่สามารถเลือกผู้แทนเองได้ ซึ่งหวังว่าจะเป็นก้าวแรกที่เสียงของประชาชนจะได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา ทั้งนี้ จะได้ส่งเรื่องไปถึงพรรคการเมืองทุกพรรคให้บรรจุข้อเรียกร้องลงในนโยบายพรรคก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นครั้งต่อไป และร่วมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่น ให้มีขอบเขตอำนาจและการใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่นำไปสู่การสร้างสรรค์พัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกจังหวัด โดยไม่รวมศูนย์ความเจริญอยู่เพียงเมืองหลวงเท่านั้น

------------

เมื่อเวลา 17.35 น. วันที่ 1 มิถุนายน ที่รัฐสภา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี  นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะต้องมาเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือถึงการทำงานหรือไม่ ว่า


กทม.คือท้องถิ่น ต้องทำงานร่วมมือกับส่วนกลาง โดยอันดับแรกคือ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งโดยอำนาจตามกฎหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังสามารถปลดผู้ว่าฯกทม.ได้ด้วย ที่มีความสำคัญรองลงมาคือ นายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าไกลหน่อย แต่ก็จำเป็น เพราะบางอย่างจะต้องร่วมมือกันประสานกันได้


อย่างไรก็ตาม ในอดีตเคยมีผู้ว่าฯกทม.ที่มาจากการเลือกตั้งและมีปัญหากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือผู้ว่าฯกทม.กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มาจากคนละพรรคกัน ที่จริงอยู่คนละพรรคมันไม่มีปัญหา แต่ถ้าต่างคนต่างเล่นการเมืองจะทำอย่างไร และเหตุนี้ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเกิดได้ยาก เพราะเรากลัวปัญหาอย่างนี้ ดังนั้น การจะไปเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดจึงลำบาก เพราะจะเหมือนเป็นเบี้ยหัวแตกหลายพรรค ดังนั้น เราจึงทดลองกับ กทม.


เมื่อถามว่า ขณะนี้มีการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่นโยบายการเมือง แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นไปได้ยากในขณะนี้ เพราะมีเหตุหลายเหตุที่ไม่ควรพูดในขณะนี้


เมื่อถามว่า คนอยากรู้ว่าผู้ว่าฯกทม.กับนายกฯ จะสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะเป็นปัญหา เพราะนายชัชชาติไม่ใช่คนที่มีบุคลิกแข็งกร้าวแต่อย่างใด ตนเคยทำงานร่วมกับนายชัชชาติ จึงไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร และต่อให้บุคลิกแข็งกร้าว งานคืองาน ส่วนจะไปทำอย่างอื่นอะไรกันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่คิดว่าเป็นปัญหา



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/WexGJ1B4zOc

คุณอาจสนใจ

Related News