เลือกตั้งและการเมือง

'ชัชชาติ' ประเดิมนำร่อง ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น - ยันเปิดกว้าง จนท.กทม.แต่งกายตามเพศสภาพได้

โดย thichaphat_d

2 มิ.ย. 2565

31 views

วานนี้ (1 มิ.ย.)  เวลา 14.45 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยทีมรองผู้ว่าฯ และทีมที่ปรึกษา เดินทางไปจุดธูปสักการะศาลพระภูมิประจำศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) โดยมีการทำพิธีเติมน้ำให้เต็มโอ่งของศาลพระภูมิ ตามความเชื่อที่ว่า หากเติมน้ำจนเต็มโอ่งจะเกิดความอุดมสมบูรณ์ พร้อมวางพวงมาลัย จากนั้นนายชัชชาติ ได้ไปสักการะพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณด้านหลังอาคารไอราวัตพัฒนาโดยมีข้าราชการและประชาชนที่มารอต้อนรับกันอย่างหนาแน่น


ขณะที่นายชัชชาติ สักการะสิ่งศักดิ์เสร็จสิ้น มีกลุ่มข้าราชการจำนวนหนึ่ง วิ่งเข้ามากอด พร้อมกับบอกว่าเป็นแฟนคลับ นายชัชชาติ ได้ถามว่าชอบหรือไม่ มาอยู่ศาลาว่าการมาที่ดินแดง กลุ่มข้าราชการตอบว่าชอบค่ะ นายชัชชาติ ถามต่อว่าเคยอยู่เสาชิงช้าไหม ส่วนอีกกลุ่มส่งเสียงร้องกรี๊ด บอกว่า “ขอเสียงผู้ว่าฯชัชชาติหน่อยค่ะ” แล้ววิ่งเข้ามากอดนายชัชชาติ


นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ ถึงการย้ายศาลาว่าการ กทม. มาที่ดินแดง ระบุว่า กทม. มีพื้นที่ที่ใช้ทับซ้อนกันอยู่ ทั้งห้องทำงานและสภา มองว่าศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า อยู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ สามารถใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้ ยอมรับว่าแผนการย้ายไม่ได้ทำง่าย ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการย้ายเช่นกัน


นอกจากนี้ยังมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านระบุว่าอยากให้ศาลาว่าการ กทม. เปิดให้คนภายนอกมาใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น ออกกำลังกายได้ โดยเคยเข้ามาแล้วโดน รปภ.ไล่ มองว่าพื้นที่บริเวณนี้ใหญ่โต และมีประชาชนอาศัยโดยรอบเป็นหลักหมื่นคน ที่สามารถมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งตนก็จะมาดูอีกรอบว่าจะเปิดใช้งานได้อย่างไรยืนยันว่าจะใช้แนวคิดการสร้างเมืองที่แบ่งปัน


นายชัชชาติ ยังระบุว่า ได้พูดคุยกับผู้อำนวยการสำนักโยธาธิการ กทม. ตนย้ำถึงปัญหาพื้นผิวจราจรบริเวณถนนพระราม 3 ต้องไปดูพื้นที่อีกที เพราะโครงการในพื้นที่ ทั้งพระราม 3 สาทร ไปจนถึงแยกท่าพระ ล่าช้าทุกโครงการ


สำหรับเรื่องงบประมาณ กทม. ที่ยังมีน้อย นายชัชชาติ ระบุว่า หลายโครงการของตน ยังไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ ยังต้องมีการวางแผน ส่วนทีมงานรองผู้ว่าฯ และที่ปรึกษา ทุกคนมีความเชี่ยวชาญในด้านของตนเอง มองว่ามีความครบเครื่อง นอกจากนี้ยังให้จับตาคนที่จะมาร่วมทีมเพิ่ม คาดว่าน่าจะมีอีกประมาณ 30คน


ผู้สื่อข่าวถามถึงพื้นที่สีเขียว ตั้งเป้าหมายอย่างไร นายชัชชาติ ระบุว่า ยังไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าว่าจะต้องมีกี่ตารางเมตรต่อคน แต่อยากเน้นไปที่สวนพื้นที่ใกล้บ้าน หรือสวน 15 นาที โดยตนยังมีนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ตอนนี้อยู่ขั้นตอนการหาพื้นที่เอกชนและลานกีฬาที่สามารถนำมาจัดเป็นสวนเล็กๆได้ โดยวางแนวทางว่าจะมีการร่วมมือกับเอกชนปลูกต้นไม้ และทุกต้นจะมีพิกัด GPS อัพเดต


ส่วนนโยบายที่ตั้งใจว่าจะทำเป็นส่วนแรก นายชัชชาติ มองว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะเป็นฤดูฝน เข้าใจว่ามีพื้นที่เสี่ยงประมาณ 49 จุด วางภาพตนเองครึ่งเดือนแรก ทุกส่วนต้องเริ่มงานพร้อมกันหมด


ทั้งนี้หลังนายชัชชาติ เสร็จสิ้นภารกิจ ได้กำชับให้ทีมรองผู้ว่าฯ นำข้อมูลที่คุยกับข้าราชการ และไปประชุมร่วมกันต่อทันที พร้อมกับรายงานกลับให้ตนทราบ

-----------

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ได้เริ่มนโยบายแรก ก็คือการปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรก จาก 1 ล้านต้น ที่สวนเบญจกิติ  เขตคลองเตย เวลา 15.00 น. Kick off ตามนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ ที่กรุงเทพมหานครจะปลูกต้นไม้เพิ่มให้ครบ 1 ล้านต้น โดยแบ่งการปลูกเป็น 400 ต้น/เขต/สัปดาห์ เพื่อให้ครบล้านต้นใน 4 ปี      


โดยมีหน่วยงานเอกชนมาช่วยกันปลูก นายชัชชาติ ระบุว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะได้ช่วยดูแล จะทำให้ทุกอย่างทำง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาตอนเช้า ๆ ตนก็ชอบมาวิ่ง แล้วก็จะมีแอพพลิเคชั่นให้คนได้สมัครจองไปปลูกต้นไม้ เพื่อจะได้โตไปด้วยกัน คาดว่าจะเสร็จในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ โดยเป็นความร่วมมือกับทาง สวสช.เอง


โดยนายชัชชาติ ได้โชว์ภาพนกฮูก 4 ตัวที่อยู่ใกล้กับต้นโพธิ์ใหญ่ในสวนด้วย โดยนกบินมาจากสวนลุมพินี เพราะแมวชอบมากินนกฮูก จึงย้ายมาอยู่ที่สวนเบญจกิติแทน หากเราดูแลต้นไม้ให้ดี ก็จะทำให้กรุงเทพฯ มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น


สำหรับการปลูกต้นไม้นั้น ปลูกที่ไหนก็ได้ ทาง กทม.ก็อาจจะหาที่ปลูกให้ พวกที่กองขยะอ่อนนุช หรือหนองแขม ก็อาจขอพื้นที่ไม่ได้ใช้มาปลูกต้นไม้ รวมถึงที่เอกชนซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก็เอามาปลูกต้นไม้ได้ เขตทำอาทิตย์ละ 100 ต้น 4 ปีก็ได้ล้านต้น กรุงเทพเปลี่ยนได้ เพราะพวกเราทุกคน และเริ่มทำเลย เพื่อให้ลูกหลานเราในอนาคต ต้นไม้ที่เห็นวันนี้ ก็เป็นผลงานของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เป็นโครงการที่ไม่ได้ใช้เงินมาก ต้นกล้าก็แค่ 20-30 บาทเท่านั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณมากเลย เชื่อว่าทำได้แน่นอน


นายชัชชาติ เผยว่าขณะนี้ได้รับเรื่องการร้องเรียนของประชาชน 2 หมื่นกว่าเรื่อง ได้แยกและส่งให้เขตไปทำก็มี 6 เขต รับเรื่องไปทำแล้ว ส่วนเรื่องความขรุขขระ เนื่องจากปิดฝาท่อไม่ดี ก็ให้เขตไปดูผู้รับเหมา ต้องระงับหากทำไม่ดี งบประมาณเหลือน้อย ไม่ต้องกลัว ถ้าเราคิดฉลาด ก็ไม่ต้องใช้เงินเยอะ แต่มีพลังมหาศาล ทำให้ประชาชนสนุกด้วย ทางเท้ากับไฟดับเป็นเรื่องที่มีคนร้องเรียนมากสุด ก็ให้รองผู้ว่าฯ ไปทำงานที่มอบหมาย


จากนั้นช่วงเย็นได้ไปร่วมเปิดงานไพรด์มันธ์ สำหรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย ที่สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน ที่ตรงกับนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล ที่นายชัชชาติ และทีมงานจะให้การสนับสนุนและผลักดัน
----------
เมื่อเวลา 17.55 น. วานนี้ (1 มิ.ย. 65) ที่ห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เดินทางมาร่วมในงาน ‘Samyam Mitr Pride 100% Love’ #เพราะความรักมีหลากหลาย ที่จัดขึ้นในวันที่ 1 – 30 มิ.ย. เพื่อร่วมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจ ยินดีในความหลากหลาย และปลดปล่อยความเป็นตัวเองให้เต็มที่ โดยมี นางมาศวัลย์ ปิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยพนักงานข้าราชการกทม. ร่วมให้การต้อนรับ


นายชัชชาติ กล่าวว่า งาน pride month เป็นงานที่จัดกันทั่วโลกในเดือนมิถุนายน เพื่อให้เกิดการเข้าใจ และใส่ใจในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งจริงๆ แล้วตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ และงานที่มาวันนี้ก็ติดต่อตนมาตั้งนานแล้ว แต่วันนี้ได้เป็นผู้ว่าฯ พอดี เลยแวะมา ถึงแม้ว่าตำแหน่งจะเปลี่ยนไป แต่ความสัมพันธ์ก็ยังไม่เปลี่ยน จึงมาร่วมงานตามที่รับปากไว้


“ก็คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญกับการที่เราตระหนักรู้ถึงความหลากหลายของเพื่อนเรา เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ยอมรับเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป การยอมรับเรื่องพวกนี้มันทำให้เรามีความเข้าใจกัน และเรื่องอื่นๆ มากขึ้นด้วย แฟนคลับในไลฟ์เองก็อยากให้กทม.จัดกิจกรรมเรื่องนี้เหมือนกัน เพื่อเป็นการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ซึ่งทางนโยบายก็มีอยู่แล้ว ตั้งแต่ข้าราชการกทม.เลย เราควรยอมรับการแต่งการตามเพศวิถี เขาชอบแบบไหนก็ไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้บริการประชาชนได้เต็มที่ ทำงานให้ดี เรื่องการแต่งกายเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบ แต่ยังไม่ได้ดูรายละเอียดว่าคำสั่งปัจจุบันเป็นอย่างไร” นายชัชชาติกล่าว


นายชัชชาติกล่าวถึงการให้ความรู้และให้บริการกับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ว่าอาจจะมีการให้บริการด้านจิตวิทยา และฮอร์โมนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการ การให้ความปลอดภัยในยามวิกาล อาจมีการจัดโซนปลอดภัย เรื่องนโยบาย 12 เฟสติวัล Pride month ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนี้แสดงว่าทางกทม.เปิดให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารกทม. สามารถแสดงออกทางเพศสภาพได้หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ตนคิดว่าตรงนี้ไม่มีปัญหา ตราบใดที่มีการบริการประชาชนที่ดี ทำทุกอย่างตามหน้าที่ เรื่องนั้นไม่ใช่อุปสรรคเลย ตนคิดว่าเรื่องความหลากหลายทางเพศทั่วโลกยอมรับกันแล้ว


“โลกไม่ใช่มีแค่ขาวกับดำ ผมคิดว่ามันมีสเปคตรัม มีเฉดสีที่แตกต่างกัน” นายชัชชาติ กล่าวย้ำ


เมื่อถามว่า กรณีการผลิตซีรีส์วาย จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะทำให้คนเข้าใจในความหลากหลายทางเพศหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ตนก็ไม่เคยดู แต่เท่าที่ฟังก็ดูฮิตในกลุ่มวัยรุ่น คิดว่าคงเป็นเรื่องของเอกชนที่ทำ เพราะเขามีความเข้าใจตลาดมากกว่าเรา แต่ว่าถ้าสามารถส่งเสริมในบางจุดได้ เราก็อาจจะมีความร่วมมือกับภาคเอกชน แต่กทม.อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาตรงนี้ เพราะเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เพราะเนื้อหามันเปลี่ยนเร็ว เราอาจจะตามไม่ทัน อาจจะสนับสนุนเรื่องการถ่ายทำ หรือโลเคชั่นในการถ่ายทำ


เมื่อถามว่า จะมีการจริงจังเรื่องการคุกคามทางเพศหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า เราเอาจริง เอาจังจากกทม.ก่อน เรื่องการบูลลี่หรือการคุกคามทางเพศนั้น ‘เรารับไม่ได้แน่นอน’ ไม่มีความอดทนกับเรื่องนี้ ก็คงต้องมีสายด่วนที่ช่วยเพราะหลายๆ ปัญหาต่อเนื่องกัน เช่น คนไร้บ้าน ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการคุกคามทางเพศในครอบครัวและสุดท้ายต้องหนีออกมาเป็นคนไร้บ้าน ก็ต้องดูทั้งมิติให้เชื่อมโยงกัน


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2Zp53QSUO3s


คุณอาจสนใจ

Related News