เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ แจงกรอบงบปี 66 ยึดตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน มุ่งประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด

โดย paranee_s

31 พ.ค. 2565

87 views

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณ ปี 65 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74


พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลง การจัดทำงบประมาณ โดยยืนยัน จัดทำงบประมาณอย่างเหมาะสม เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยืนยันว่า การดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรัฐบาลดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งได้กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน อาทิ ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง มุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุกด้าน


นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า โดยจะใช้งบประมาณตามแผนงานอย่างบูรณาการ รวมไปถึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ และจัดสวัสดิการที่จำเป็นเพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ตลอดจนการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรมและไม่ซ้ำซ้อนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และจะดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี


ขณะที่ การเงินโดยรวมขณะนี้ยังมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบาง จากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ร้อย 0.50


นอกจากนี้ สถานะการเงินด้านการต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 230,926.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าต่อหนี้ต่างประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง


อย่างไรก็ตาม ก่อนเสร็จสิ้นการชี้แจงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรัฐบาลขึ้นกราฟิกพร้อมรับฟังสนับสนุนร่วมมือกับทุกภาคส่วน #สร้างไทยไปด้วยกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีใช้เวลาในการชี้แจงกว่า 1 ชั่วโมง


สำหรับงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามกระทรวงและหน่วยรับ 10 อันดับแรกที่ได้รับงบประมาณ อันดับที่หนึ่ง คือ งบกลาง 5.9 แสนล้านบาท รองลงมา คือ กระทรวงศึกษาธิการ 3.259 แสนล้านบาท แต่ลดจากงบฯ ปี65 จำนวน 4.5 พันล้านบาท


และต่อมาได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 3.255 แสนล้านบาท, กระทรวงการคลัง 2.85 แสนล้านบาท, ทุนหมุนเวียน2.06 แสนล้านบาท, กระทรวงกลาโหม 1.97 แสนล้านบาท แต่ลดจากงบฯปี65 จำนวน 4.3 พันล้านบาท, กระทรวงคมนาคม 1.8 แสนล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 1.62 แสนล้านบาท, กระทรวงสาธารณสุข 1.56 แสนล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.26 แสนล้านบาท ตามลำดับ ส่วนกระทรวงพลังงาน ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 2.70 พันล้านบาท


คุณอาจสนใจ

Related News