เลือกตั้งและการเมือง

“อภิสิทธิ์” ชี้ ประชาธิปไตยไทยถดถอย แนะ เพิ่มอำนาจตุลาการ ลงดาบรัฐประหาร

โดย paranee_s

17 พ.ค. 2565

1.3K views

17 พ.ค.2565 มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม จัดเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปี พฤษภาประชาธรรม หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ ที่ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี , นายสมชาย หอมลออ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ปี 2535 , และนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ร่วมเป็นผู้อภิปรายในวงเสวนา


โดยนายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ตนเองเชื่อว่า วีรชนสมัยปี 2535 มีความคิดว่าอยากเห็นประเทศไทยมีประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล ที่ประชาชนสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ ที่ประชาชนเคารพสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคน ตอนนี้เป็น 30 ปี ที่หลายประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างผิดหวังและตกใจ เนื่องจากเริ่มมองเห็นความถดถอยของระบอบนี้ในหลายแห่ง


จะเห็นได้ว่าในรอบ 20 ปี มีผู้นำในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมก็เกิดขึ้นมากมาย สิ่งที่น่าตกใจคือรูปแบบการสืบทอดอำนาจ มีความแนบเนียน ผ่านวิธีการสลับซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้นำประเทศเหล่านั้นผ่านการเลือกตั้ง หรือตามรัฐธรรมนูญตามปกติ แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างที่เคยได้รับทราบกันมา มองว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยยังอยู่อีกห่างไกล


สำหรับประเทศไทยนั้น นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า รัฐธรรมนูญก็มีความถดถอยลง แต่ในอีกหลายแง่มุมก็เห็นได้ชัดว่าค่านิยมประชาธิปไตยก็ได้เริ่มหยั่งรากลงในความคิดของประชาชน ทั้งความตื่นตัวต่อการเลือกตั้ง หรือคนรุ่นใหม่ที่กล้าออกมาเรียกร้องเสรีภาพ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดการปฏิรูปอย่างกว้างขวางซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยไม่ใช่หลักประกันว่าจะมีรัฐบาลที่ดี หรือไม่ทุจริตใดๆ สิ่งที่จำเป็นต้องคิดคือจะทำอย่างไรให้การต่อต้านรัฐบาล ไม่มาล้มล้างหลักการ


"หากมีความจำเป็นที่จะต้องแสดงออกคัดค้านหรือประท้วง เป็นการประท้วงเฉพาะตัวรัฐบาล และไม่เป็นการล้มระบบที่เป็นประชาธิปไตย นี่คือบทเรียนสำคัญประการหนึ่งที่เราจะต้องร่วมกันเรียนรู้และแสวงหาทางออก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว


นายอภิสิทธิ์ ยังขอแสดงความห่วงใย จากปัญหาที่พบในการสานต่อเจตนารมณ์ประชาธิปไตย คือรัฐธรรมนูญยังเปิดทางให้วุฒิสภาสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้สถานการณ์ย้อนกลับไปมีเงื่อนไขของความขัดแย้งเหมือนปี 2535 ได้ จึงควรเร่งแก้ไขมาตรา 272 เป็นลำดับแรก ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และเลือกรัฐบาลได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อปลดชนวนความขัดแย้ง


นายอภิสิทธิ์ เน้นย้ำว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ราบรื่น ต้องมีระบบที่ได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ขั้นตอนสำคัญคือการแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นฉบับของประชาชน โดยเฉพาะการแก้ไขในกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาล ซึ่งยังเป็นจุดบอดของรัฐธรรมนูญในฉบับผ่านๆ มา เราควรต้องเรียนรู้จากบทเรียนและหาทางออกร่วมกันเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อไป เช่นเดียวกับการป้องกันรัฐประหารในอนาคต เลี่ยงไม่ได้ที่ฝ่ายตุลาการจะต้องเข้ามามีบทบาท สนับสนุนหลักการทางกฎหมายที่จะไม่ยอมรับการรัฐประหาร รวมทั้งอาจจะอาศัยรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ในบางมาตราให้ตุลาการใช้เป็นเครื่องมืออ้างอิงได้


"เราอย่าไปท้อแท้ว่า 30 ปี ผ่านไป แล้วทุกสิ่งกำลังถอยหลัง ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก และท่ามกลางความถดถอยในหลายด้าน เราก็ได้เห็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตยในประเทศ ต้องพยายามอาศัยพลังเหล่านั้น มาสนับสนุนการเดินไปข้างหน้า เราเรียนรู้จากบทเรียนข้อผิดพลาดต่างๆ ในอดีต และตกลงร่วมกันได้ว่าถึงเวลาที่จะแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนำบทเรียนเหล่านี้กลับเข้ามา น่าจะเป็นหนทางไปสู่ประชาธิปไตย ตามที่เหล่าวีรชนได้ต่อสู้ไว้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว"


ขณะที่ นายสมชาย เปิดเผยว่า ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเกิดเรื่องขึ้นมากมาย ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง อยู่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนผ่าน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทุกครั้งที่กองทัพยึดอำนาจ จะมี 2 สาเหตุ คือการคอร์รัปชัน และความมั่นคงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์


พล.อ.สุจินดา เคยสัญญาว่าจะคืนอำนาจและมีการเลือกตั้ง แต่กติกากลับมีการสืบทอดอำนาจ ท้ายที่สุด พล.อ.สุจินดาก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ สร้างความโกรธแค้นให้ประชาชน นำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตย จนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก


และยังมองว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นตัวเร่งที่ทำให้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ได้วางรากฐานของประชาธิปไตยอย่างกว้างขวางและเข้มแข็ง มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาถ่วงดุลฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ แต่หลังจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก็มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิมนุษยชน การรัฐประหาร ปี 2549 นำความขัดแย้งอย่างมากมาสู่สังคมไทย แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว จนบานปลายมาจนปัจจุบัน


ด้านนายโภคิน กล่าวว่าความคิดแบบอำนาจนิยม มีมาให้เห็นตั้งแต่ในอดีต นอกจากนี้ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเห็นได้ชัด ว่ามีการต่อสู้กัน 3 พลังคือ ศักดินานิยม เผด็จการอำนาจนิยม และประชาธิปไตย ตอนนี้ผู้นำกองทัพไม่สามารถหยุดศึกได้ สาเหตุที่ทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากการที่ศาลยุติธรรมให้การรับรองว่าหากรัฐประหารสำเร็จ จะกลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และถือว่ามีความถูกต้อง เชื่อว่าหากใครที่รัฐประหาร และโดนตัดสินว่าผิดจะเป็นบรรทัดฐาน


มองว่าทางแก้มี 3 ทาง คือการทำความเข้าใจกับประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าต้องไม่มีการนิรโทษกรรม



คุณอาจสนใจ

Related News