เลือกตั้งและการเมือง

'ไพบูลย์' แขวะ! ได้เขตเดียว ต้องดูอีก 399 เขตด้วย - 'ชลน่าน' ลั่นคนส่วนมากเลือกฝั่ง ปชต.

โดย thichaphat_d

3 ก.พ. 2565

49 views

วานนี้ (2 ก.พ.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร ที่พรรคพลังประชารัฐแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยว่า ทุกอย่างเรียบร้อย การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร เป็นเพียง 1 เขตเลือกตั้งใน 400 เขตเท่านั้น ยังเหลืออีก 399 เขต


ซึ่งหลักสี่-จตุจักร จะถือเป็นข้อมูลกับทางพรรคที่จะต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อดูแลประชาชน และเพื่อประโยชน์ของประเทศ และเชื่อว่าการเลือกตั้งจะต้องรอไปอีกปีกว่า ทำให้ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐก็จะมีเวลาเข้าไปดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ยังเชื่อมั่นว่า การเลือกทั่วไปจะเกิดขึ้นในปี 2566 ดังนั้น ยืนยันว่า การเลือกตั้งเพียง 1 เขต จะนำมาตัดสินอีก 399 เขตที่เหลือไม่ได้


ทั้งนี้ มั่นใจว่า บริบทในแต่ละเขตเลือกตั้งต่างกัน และยังมั่นใจว่า พรรคพลังประชารัฐมีความสามารถที่จะเข้าไปอยู่ในใจของประชาชนอย่างแน่นอน


ส่วนปัญหาการเลือกตั้งซ่อม จะกระทบต่อเสถียรภาพของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่นั้น ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อเสถียรภาพของพรรค ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ยุบสภา ก็เห็นเรียกร้องกันมา 3 ปีแล้ว และมองว่าจะต้องเรียกร้องต่อไปจนถึงปีที่ 4 โดยพรรคพลังประชารัฐ สามารถเดินหน้าต่อไปได้อยู่แล้ว ทุกพรรคการเมืองย่อมมีปฏิปักษ์ ที่ดูเหมือนจะเป็นมิตรก็มีการแข่งขัน


สำหรับกรณีที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้วผู้นำฝ่ายค้าน ออกมาให้ความเห็นว่า หากพรรคพลังประชารัฐไม่ปรับเปลี่ยนการทำงานการเลือกตั้งครั้งถัดไป จะได้ส.ส.ต่ำกว่า 50 คนนั้น เป็นการพูดให้ร้ายคู่แข่งที่มีความสามารถ พรรคการเมืองมีการแข่งขัน และมีการพูดจาให้ร้าย กับพรรคการเมืองที่ตนเองรู้สึกว่าเป็นคู่แข่งที่มีความสามารถ ถือเป็นการดิสเครดิตกัน แต่พรรคพลังประชารัฐไม่ทำเช่นนั้น


ทั้งนี้ ภายหลังจากการเลือกตั้งทางพรรคพลังประชารัฐได้พูดคุยกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่า ฯกทม.แล้วหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดคุยกับพลเอกประวิตรเป็นการส่วนตัว และในพรรคก็ไม่ได้พูดคุยในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยเรื่องของสภา โดยส.ส.ทุกคนมีความกระตือรือร้นในเขตตนเองอยู่แล้ว


สำหรับกรณีที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า โพสต์ Facebook ส่วนตัวภายหลังการเลือกตั้งที่เขตหลักสี่-จตุจักรว่า “ศัตรูของศัตรูก็คือเพื่อน” จะมีความกังวลหรือไม่ว่า ส.ส.ทั้ง 21 คนจะไม่อยู่ฝั่งเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องนี้อย่าไปคิดเยอะ เพราะเป็นเรื่องของการเมือง ก็พูดกันไปไม่มีสาระที่จะเอามาเป็นเรื่อง


พรรคพลังประชารัฐมีงานอีกเยอะที่จะต้องทำพร้อมมั่นใจว่า ไม่กระทบต่อเสถียรภาพของพรรค ส่วนคนที่เรียกร้องให้ยุบสภา ตนก็เห็นใจ เพราะเห็นว่าให้เรียกร้องให้ยุบสภาตั้งแต่ปีแรก มีความเป็นห่วงว่า น่าอึดอัดและทนไม่ไหว หากทนไม่ได้ก็ให้ลาออกไป


ทั้งนี้ คำร้องที่ยื่นขอให้ยุบพรรคพลังประชารัฐในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีที่กลุ่มราษฎรยื่นขอให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น คือ นายอุตตม สาวนายน เซ็นรับรองให้นายสิระ เจนจาคะ ลงสมัคร ส.ส.ในพื้นที่หลักสี่-จตุจักร


ตนกลับไปดูในข้อกฎหมายแล้ว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการบริหารพรรค และไม่มีข้อใดที่จะขอให้ยุบพรรคได้ ส่วนจะมีความผิดอาญาหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะว่า กกต.ก็ยังรับรอง แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมา ก็เป็นไปตามนั้น ส่วนที่จะเอาผิดอะไรกันกับผู้ที่เซ็นรับรอง ก็คงจะลำบาก โดยเฉพาะของพรรคพลังประชารัฐ ให้ลืมไปได้เลย เพราะไม่มีข้อกฎหมายไม่มีอะไรทั้งสิ้น ผู้ยื่นก็อาจจะยื่น เพราะไม่ชอบพรรคพลังประชารัฐ จึงยื่นให้ดูเป็นประเด็นใหญ่


ด้าน นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อสรุปของการกำหนดวันอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ว่า เรื่องวันเวลาอภิปราย ฝ่ายรัฐบาลได้ให้เวลามาแค่ วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 แต่เมื่อดูเนื้อหาแล้ว คาดว่าเวลาที่ได้2วัน เมื่อเฉลี่ยจะได้แค่ 30 ช.ม. แต่ฝ่ายค้านขอไป 36 ช.ม. ซึ่งช่วงบ่ายนี้จะหารืออีกครั้ง


ซึ่งเมื่อแบ่งเวลาแล้วฝ่ายค้านจะต้องได้ไม่ต่ำว่า 24 ช.ม.โดยเนื้อหาแบ่งกันชัดเจน ของแต่ละพรรคที่จะอภิปราย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.วิกฤติเศรษฐกิจ ด้านต่างๆ 2.เรื่องโรคระบาดต่างๆ ทั้งคน ทั้งสัตว์ 3.เรื่องวิกฤติการเมือง การปฏิรูปการเมือง กลไกวิธีการเข้าสู่อำนาจการเมือง โดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง และ 4.เรื่องปัญหาเฉพาะ หรือเรียกได้ว่าปัญหาจากการบริหารงานที่ผิดพลาดล้มเหลวของรัฐบาลโดยรวม


ดังนั้น ต้องชี้แจงให้วิปรัฐบาลเห็นว่าการอภิปรายตามมาตรา 152 จะเทียบกับการอภิปรายตามมาตรา 151 ไม่ได้ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับประเด็นที่ยื่น ซึ่งปีนี้ประเด็นเนื้อหาครอบคลุมทุกมิติ และมีผู้อภิปรายจำนวนมาก หากไม่ขยับเวลาไป 3 วัน ก็จะใช้เวลาให้ได้มากที่สุดให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิม คือ 36 ช.ม.


ซึ่งการอภิปรายแบบไม่ลงมตินั้นเพื่อถามเท็จจริงเสนอแนะรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่แม้จะไม่มีการลงมติก็เชื่อว่า ทุกพรรคการเมืองจะตบท้ายประโยคด้วยคำว่านายกรัฐมนตรีควรลาออกได้แล้ว ควรยุบสภา หรือคืนอำนาจให้กับประชาชน


ส่วนกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวันรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่ารัฐบาลไม่ยึดสภาแน่นอน แต่ถ้าหากใครอดทนรอไม่ได้ก็ลาออกไป นั้น นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก็เป็นวิธีคิดของผู้พูดสะท้อนมุมมองของ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนี้ แต่กลไกวิธีการที่ใช้ในสภา อดีตฝ่ายค้านเลยลาออกทั้งหมด เพื่อกดดันรัฐบาลได้


แต่ก่อนหน้านี้ต่อให้ฝ่ายค้านลาออกอย่างไร รัฐบาลก็ยังมีเสียงข้างมากในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ เพราะรัฐบาลด้านพอที่จะไม่เกรงกลัวอำนาจของประชาชน แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงในพรรคฝ่ายรัฐบาลถ้าหาก 21 เสียงมาอยู่กับฝ่ายค้าน เปิดสภาสมัยประชุมหน้าในเดือนพฤษภาคมรัฐบาลก็อยู่ไม่ได้แล้ว 21 เสียงไม่ทำงานร่วมกับรัฐบาล รัฐบาลก็ล่ม


ส่วนกรณีนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกรัฐบาล ระบุว่าการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่-จตุจักร กรุงเทพฯไม่ได้สะท้อนภาพรวมคะแนนนิยมของรัฐบาลนั้น ตนไม่ขอวิจารณ์ตัวบุคคล แต่ถ้าหากพูดถึงภาพรวมก็เป็นวิธีการของรัฐบาล แต่ในอนาคตก็ต้องให้ประชาชนพิสูจน์กันต่อไป


และสัญญาณที่ส่งออกมาสู่ฝ่ายประชาธิปไตยชัดเจนมาก คะแนน 60% ของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย อะไรที่ประชาชนส่งสัญญาณควรไปวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่ต้องมาแขวะฝ่ายค้าน ไปดูตัวเองและดูประชาชนให้ดีดีกว่า เผื่อประชาชนจะยอมรับได้บ้าง


ด้าน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่งเอกสารฉบับหนึ่งไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคาร (1 ก.พ. 65) ระบุว่า ขณะนี้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามกฎหมายใหม่แล้ว เป็น 400 เขต จากเดิม 350 เขต พร้อมระบุว่าแต่ละจังหวัดมี ส.ส. ได้ทั้งหมดกี่คน โดยใช้ข้อมูลประชากรเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2564



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/VZPu3pMzd3w

คุณอาจสนใจ

Related News