เลือกตั้งและการเมือง

ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 500 ใครได้-ใครเสีย ?

โดย panisa_p

9 ก.ค. 2565

382 views

จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 65 เกี่ยวกับกติกาการคำนวณสูตร ส.ส. บัญชีรายชื่อ หรือร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.) ซึ่งทำให้เกิดความสงสัยว่า สรุปแล้วการคำนวณสูตร ส.ส. หาร 500 คืออะไร แล้วใครเป็นคนได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากสูตรดังกล่าว


เรื่องนี้เป็นผลมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ จนต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ จากเดิมมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 150 คน ปัจจุบันลดจำนวนเหลือ 100 คน ขณะที่ ส.ส. เขตเพิ่มจาก 350 คน เป็น 400 คน ซึ่งปัญหาที่กำลังถกเถียงกัน คือ วิธีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ว่าจะใช้วิธีการหาค่าเฉลี่ยคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน จากสูตรใด เพราะมีทั้งสูตรหารด้วย 100 ซึ่งเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมด กับสูตรหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนรวมกันของ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ


แต่กว่าจะได้การคำนวณแบบ “สูตรหาร 500” มา ในที่ประชุมรัฐสภาได้มีการอภิปรายและถกเถียงกันอย่างดุเดือด เพราะเดิมมีสูตรการคำนวณที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระ 1 และคณะกรรมาธิการมาแล้ว คือ การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อโดยใช้ 100 เป็นตัวหาร หรือที่เรียกกันว่า “สูตรหาร 100”


ซึ่งเป็นสูตรการคำนวณที่หลายคนมองว่าเป็นประโยชน์ต่อพรรคใหญ่ที่มีฐานเสียงเยอะอยู่แล้วอย่างเพื่อไทย จนอาจมีโอกาสทำให้พรรคเพื่อไทยกลับมาครองเสียงข้างมากของสภาได้ ในขณะที่ “สูตรหาร 500” ยังคงหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2560 เปิดโอกาสให้พรรคเล็กมีที่นั่งในสภา ป้องกันการผูกขาดของพรรคขนาดใหญ่ แต่สุดท้ายก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ “แจกกล้วยในสภา”


ทีมข่าวใต้เตียงการเมืองได้นำผลการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เมื่อปีพ.ศ. 2554 แบบเป็นตัวเลขกลม ๆ มาคำนวณด้วย 2 สูตร




จากภาพเป็นการคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อจากสูตรหาร 100 และสูตรหาร 500 โดยผลเลือกตั้งบัญชีรายชื่อรวมทุกพรรค คือ 32 ล้านคะแนน ขณะที่พรรคการเมือง A ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 15 ล้านคะแนน และชนะ ส.ส. เขต 204 เขต


การคำนวณด้วย “สูตรหาร 100”

จากภาพจะเห็นได้ว่าการคำนวณโดย “สูตรหาร 100” คือ การนำคะแนนรวมของ ส.ส. บัญชีรายชื่อทุกพรรคการเมืองมารวมกันแล้วหารด้วย 100 (จำนวนที่นั่งของ ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมดในสภา) ทำให้ได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน คือ 320,000 คะแนน เมื่อนำคะแนนบัญชีรายชื่อที่พรรค A ได้ คือ 15 ล้านคะแนน มาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยดังกล่าว จะทำให้พรรค A มีจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งหมด 46 คน และนำไปรวมกับจำนวน ส.ส. เขตที่พรรคมีอยู่แล้ว 204 คน ทำให้หากคำนวณด้วยสูตรหาร 100 พรรค A มีที่นั่งในสภารวมทั้งหมด 250 คน




การคำนวณด้วย “สูตรหาร 500”

ส่วนการคำนวณด้วย “สูตรหาร 500” คือ การนำคะแนนรวมของ ส.ส. บัญชีรายชื่อทุกพรรคการเมืองมาหารด้วย 500 (จำนวนที่นั่งของ ส.ส. ทั้งหมดในสภา) ทำให้ได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คนแตกต่างจากเดิม คือ ลดลงเหลือ 64,000 คะแนน จากนั้นก็นำคะแนนบัญชีรายชื่อที่พรรค A ได้ คือ 15 ล้านคะแนน มาหารด้วยคะแนนเฉลี่ยดังกล่าว ก็จะได้จำนวนส.ส. พึงมีที่พรรค A ควรได้ขึ้นมา ซึ่งส่วนนี้ไม่มีในสูตรหาร 100 แต่เป็นการเพิ่มเข้ามาตามหลักการของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้พรรคการเมืองไม่มีโอกาสได้ ส.ส. เกินไปกว่า ส.ส. พึงมีที่คำนวณไว้


และจากการคำนวณด้วยสูตรนี้ พรรค A มี ส.ส. พึงมีจำนวน 234 คน ดังนั้น เมื่อพรรค A มี ส.ส. เขตอยู่แล้ว 204 คน พรรค A จึงสามารถมี ส.ส. บัญชีรายชื่อได้อีก 30 คน ด้วยวิธีการนำจำนวน ส.ส. พึงมี 234 คน มาลบกับจำนวน ส.ส. เขต 204 คน ที่มีอยู่แล้ว


จากการเปรียบเทียบทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่าระหว่างสูตร 100 และ 500 แตกต่างกันอย่างไร และพรรคใหญ่เสียประโยชน์จริงหรือไม่ เมื่อใช้สูตรหาร 500 และคำตอบก็เป็นที่ชัดเจนว่า การคำนวณด้วยสูตรหาร 500 ของพรรคที่มี ส.ส. เขตจำนวนมาก ทำให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อลดลง


ด้วยการกำหนด ส.ส. พึงมีขึ้นมา ทำให้ที่นั่ง ส.ส. ของแต่ละพรรคถูกจำกัด ไม่สามารถมีจำนวนมากกว่านี้ได้ และทำให้เกิดการกระจายที่นั่งของ ส.ส. ในสภา ไปยังพรรคขนาดกลางที่มีจำนวน ส.ส. เขตน้อย แต่สุดท้ายแล้วสูตรหาร 500 นี้ จะเป็นประโยชน์กับพรรคเล็กและเป็นผลเสียของพรรคใหญ่จริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการวางกลยุทธ์ของแต่ละพรรค ว่าจะวางยุทธศาสตร์ในการเล่นเกมการเมืองภายใต้กติกานี้กันอย่างไร




ซี่งในมุมมองของอดีตกกต. อย่าง รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร มองว่า พรรคเล็กอาจจะไม่ได้ประโยชน์จากสูตรหาร 500 ตามที่คาดหวัง ด้วยจำนวนส.ส. บัญชีรายชื่อที่ลดลง จาก 150 เป็น 100 การคำนวณที่นั่งใน 100 ที่นั่ง จึงเป็นการคำนวณอยู่ในคะแนนของพรรคที่ได้คะแนนนิยมมาก ไม่ได้คำนวณเพื่อปัดเศษไปให้พรรคเล็กได้ประโยชน์ แบบระบบจัดสรรปันส่วนของกฎหมายเมื่อปี 2560


ขณะที่ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง มองว่าการหารด้วยสูตรหาร 500 ยังมีทางออกที่พรรคใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยสามารถแตกพรรคออกเป็นสองพรรคเหมือนที่เคยทำในอดีต หรือการจับมือกับพรรคก้าวไกล เพื่อโกยคะแนนบัญชีรายชื่อไปให้อีกพรรค เพราะพรรคเพื่อไทยได้คะแนนส.ส. เขตมากอยู่แล้ว และจะทำให้ปรากฎการณ์แลนด์สไลด์สามารถเกิดขึ้นได้ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ในรัฐสภานั้นอย่าลืมว่ายังมีส.ว. อีก 250 เสียง ที่ยังมีบทบาทในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี


“ประชาชนมีหน้าที่จับตาดูและติดตามว่าแต่ละพรรคจะเดินเกมอย่างไร เดาไปก็ไม่มีประโยชน์ หน้าที่ของเรา คือ การเลือก เราเป็นคนเลือกไม่ได้มีหน้าที่คิด หน้าที่คิดมันเป็นของพรรคการเมือง คนเลือกถึงเวลาอยากเลือกใครก็เลือก พรรคไหนเป็นที่นิยมเค้าก็มีทางไปของเขาอยู่แล้ว” อาจารย์สุขุมกล่าว


อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายที่แก้ไขอยู่นี้ยังอยู่ในการพิจารณาในวาระที่ 2 ในรัฐสภา ยังต้องจับตาในการลงมติวาระ 3 หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่าระบบหาร 500 จะผ่านฉลุยหรือไม่ ซึ่งในมุมของพรรคเพื่อไทยมองว่าสูตรนี้นี้เป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ และปลายทางของร่างกฎหมายยังต้องผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง


ส่วนผลได้และผลเสียจะตกอยู่ที่ใคร ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องคณิตศาสตร์ทางการเมือง แต่ยังขึ้นอยู่กับการวางยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรคการเมืองด้วย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกพรรคไหนให้เข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชน ภายใต้ระบบเลือกตั้งใหม่นี้


คอลัมน์ใต้เตียงการเมือง

โยษิตา สินบัว รายงาน

คุณอาจสนใจ