เลือกตั้งและการเมือง

‘อนุชา’ เผย สคบ. ออกประกาศ 4 ฉบับ มอบของขวัญปีใหม่ ลดภาระค่าครองชีพและช่วยเหลือผู้บริโภค

โดย chiwatthanai_t

28 ธ.ค. 2565

228 views

วันที่ 28 ธันวาคม 2565 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ นายธัชชญาณ์ณัช  เจียรธนัทกานนท์  เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าว สคบ. จับมือผู้ประกอบการ มอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน


นายอนุชาฯ เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกกระทรวงจัดเตรียมแผนงานและโครงการเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ให้กับประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าครองชีพช่วงเทศกาลสำคัญ ส่งความสุขให้กับประชาชน และเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อสินค้ารวมถึงการซื้ออสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการขายและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ตนในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จึงได้สั่งการให้หน่วยงานพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่


โดย สคบ. ได้มีการออกประกาศในการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคได้แก่ ประกาศให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ประกาศให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ประกาศให้ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และประกาศให้สินค้าที่มีรังสีอัลตราไวโอเลตความยาวคลื่นช่วงซี(Ultraviolet C  หรือ UV-C)เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก และได้มีการบูรณาการความร่วมมือ กับ 16 ผู้ประกอบการ เพื่อมอบโปรโมชั่นพิเศษให้แก่ประชาชนในการซื้อสินค้าและบริการ รวมทั้งการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพื่อส่งมอบความสุขให้เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2566 ทั้งการมอบส่วนลดและโปรโมชั่นพิเศษ คูปองแทนเงินสดและเครดิตเงินคืนจากห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ฟรีตรวจเช็คสภาพรถก่อนเดินทาง เป็นต้น

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สคบ.ได้จัดโครงการมอบของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน พ.ศ. 2566 โดยในส่วนของ สคบ. ได้มีการออกประกาศในการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค จำนวน 4 ประกาศ ดังนี้


1. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สินของผู้บริโภคในการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์อันสืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบต่อรายได้ รวมถึงการประกอบอาชีพของผู้บริโภค โดยสาระสำคัญของสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่กำหนดเพิ่มเติม ในประกาศฯ คือการกำหนดกรอบอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อโดยแยกออกเป็น 3 กรณี 1) กรณีรถยนต์ใหม่ ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี 2) กรณีรถยนต์ใช้แล้ว ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และ 3) กรณีรถจักรยานยนต์ ไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี

2. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565
ปัจจุบันผู้บริโภคมีการทำธุรกรรมการกู้ยืมเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่องทางออนไลน์และทางแอปพลิเคชันต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งผู้ให้กู้ยืมเงินมีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ มีการเพิ่มเติม ดังนี้ 1) มีการกำหนดคำนิยามให้ครอบคลุมถึงการกู้ยืมเงินรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 2) มีการขยายขอบเขตการให้กู้ยืมเงินครอบคลุมถึงบุคคลธรรมดาซึ่งดำเนินธุรกิจให้กู้ยืมเงิน 3) มีการกำหนดให้ผู้ให้กู้ยืมเงินแสดงตารางภาระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคด้วย

3. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและแก้ปัญหาการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่ไม่จัดเป็นปุ๋ยตามกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยและไม่จัดเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย โดยใช้ข้อความบนฉลากที่แสดงสรรพคุณของสินค้า ในลักษณะข้อความที่อวดอ้างว่ามีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ในการปรับปรุงคุณภาพดินหรือส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยมีสาระสำคัญ คือใช้ข้อความที่ตรงต่อความจริง ต้องระบุข้อความอันจำเป็น ได้แก่ ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตหรือของผู้นำเข้าเพื่อขาย ประเทศที่ผลิต สถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือของผู้สั่งหรือนำเข้า ฯลฯ และต้องระบุข้อความว่า “ผลิตภัณฑ์นี้ไม่จัดเป็นปุ๋ยตามกฎหมายว่าด้วยปุ๋ย และวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายทางการเกษตร หรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช”

4. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ให้สินค้าที่มีรังสีอัลตราไวโอเลต ความยาวคลื่นช่วงซี (Ultraviolet C หรือ UV-C) เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

คุณอาจสนใจ

Related News