เลือกตั้งและการเมือง

ผู้ว่าฯชัชชาติ เตรียมเสนอ ตร.ทบทวนโซนนิงสถานบริการ ป้องกันอัคคีภัยสถานบันเทิง

โดย chutikan_o

9 ส.ค. 2565

29 views

ผู้ว่าฯชัชชาติ เน้นย้ำความปลอดภัยสถานบันเทิง ป้องกันอัคคีภัย เตรียมข้อเสนอแนะตำรวจ หลังพบความต้องการของสถานบริการ อยู่นอกโซนนิ่งเดิมของปี 45 แม้ไม่ใช่อำนาจรับผิดชอบของ กทม.โดยตรง




นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานบริการใน กทม. ว่า จากการตรวจสอบ เขตจตุจักรเจอสถานบริการที่ไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมากนั้นมองว่าเป็นเรื่องดี ที่จะได้แก้ไข ซึ่งตามกฎหมาย ปี 2548 เขียนจำกัดความไว้ค่อนข้างกว้าง คือ ร้านอาหารที่มีดนตรี ต้องมีทางหนีไฟอย่างน้อย 2 ทาง ดังนั้นร้านไหนที่มีดนตรีเล่น ก็จะต้องมีทางหนีไฟ 2 ทาง ซึ่งในเขตจตุจักรมีสถานบริการ 49 แห่ง หลายๆ ร้านก็เป็นร้านอาหารที่มีดนตรีเล่น ส่วนตัวมองว่า หากมีการทำเพิ่มก็ไม่ใช่เรื่องยาก



ส่วนตัวก็อยู่ในวงการเรื่องอัคคีภัยมาก่อน ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังคือ ร้านอาหารที่มีชั้น 2 ถือว่าอันตรายมาก เพราะมีทางขึ้นลงทางเดียว หากเกิดเพลิงไหม้ ควันจะลอยอยู่ด้านบน ชั้น 2 จะโดนควันก่อน ก็อาจจะหนีได้ยาก ดังนั้นจึงต้องมีการฝึกเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มองเห็นปัญหาและเกิดการแก้ไข และขณะนี้ กทม.จะเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ในเรื่องนี้ กทม.มีคำสั่งไปตั้งแต่ 20 มิ.ย. จึงทำให้มีข้อมูลที่ต้องกลับมาตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ



ส่วนเรื่องของระเบียบการจัดโซนนิ่ง ที่มีมาตั้งแต่ 2545 นั้น แม้เป็นนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่อำนาจของ กทม.โดยตรง แต่ก็จะต้องมีข้อเสนอไปกับทางตำรวจ แม้ไม่ใช่อำนาจแต่ก็เสนอได้ว่า สถานการณ์มันทันสมัยหรือไม่ ซึ่งถนนข้าวสารก็ไม่ได้อยู่ในโซนนิ่ง และตอนนี้ผับก็อยู่แถวทองหล่อเยอะ ก็ไม่ได้อยู่ในโซนนิ่ง รวมถึงซอยอารีย์ก็ไม่อยู่ในโซนนิ่งสถานบันเทิง ดังนั้นต้องมีคำแนะนำ หรือมีคณะทำงานร่วมกับตำรวจ ว่าตำรวจมองอย่างไร



ทั้งนี้หากยังไม่สามารถที่จะปรับโซนนิ่งได้ กทม.จะมีการออกระเบียบอะไรหรือไม่นั้น มองว่าเรื่องของโซนนิ่งคือเรื่องเวลาเปิด-ปิดเป็นหลัก อาจจะไม่ได้ออกระเบียบเพิ่ม แต่ กทม.ก็จะดูเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ว่ามีความเข้มข้นมากพอหรือยัง โดยจะนำบทเรียนเรียนหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา ทั้งเรื่องวัสดุติดไฟต่างๆ อาจจะไปปรับปรุงในเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยจากอัคคีภัย แต่ไม่เกี่ยวกับโซนนิ่ง



พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีการจัดโซนนิ่ง และใบอนุญาตด้วยว่า เรื่องโซนนิ่งมีรายละเอียดการจัดตั้งแต่ปี 2545 ทั้งนี้ก็เพื่อให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบได้อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เพราะอาจจะได้รับผลกระทบเรื่องเสียง และเรื่องพื้นที่จอดรถ รวมถึงศีลธรรมประเพณี จึงจัดโซนนิ่ง แต่โซนนิ่งก็มีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากชีวิตของคนเปลี่ยน และโซนนิ่ง ที่มีการจัดไว้คือ โซนบางรัก-พัฒพงษ์/โซนห้วยขวาง-สุทธิสาร-รัชดา/โซนมักกะสัน-เพชรบุรีตัดใหม่-RCA ซึ่งที่ยังมีอยู่ได้จริงคือ ย่านรัชดา ส่วนอีกสองโซนค่อนข้างจะเงียบแล้ว



ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการในการลงทุน มีการขยับไปตามความต้องการของคน ตามสถานที่ที่คนจะไปเที่ยว จึงไปอยู่จุดอื่นๆ และในจุดอื่นๆ เดิมก็จะเริ่มจากการเป็นร้านอาหารก่อน จากนั้นก็สามารถจำหน่ายอาหาร สุรา และมีดนตรี แต่เมื่อมีดนตรีก็จะต้องมีทางเข้าออกสองทาง



เงื่อนไขการดำเนินกิจการคือเรื่องของเวลา ถ้าขายถึงเที่ยงคืน กทม.ได้ออกใบอนุญาตเรื่องเสียง และเรื่องอาหารให้แล้ว รวมถึงเรื่องโครงสร้างในการขอใช้อาคาร ส่วนการขายสุราเป็นของสรรพสามิต ทั้งนี้เมื่อร้านอาหานเปิดเกินเที่ยงคืนก็จะเข้าสู่ พ.ร.บ.สถานบริการ ก็จะเป็นลักษณะของสถานประกอบการที่เปิดบริการเลียนแบบสถานบริการ



และเนื่องจากข้อมูลจากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าสถานบริการบางแห่ง จุคนเป็นพัน และคนเมาอาจจะไม่ได้มีสติเหมือนคนปกติ ประกอบกับสถานที่มืด ที่จะทำให้เกิดความโกลาหลหากเกิดเหตุ ดังนั้นหลังจากหารือกับสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.แล้ว สิ่งที่ กทม.จะเน้นย้ำ คือ การฝึกหนีภัย ซึ่งการใช้มาตรการเสริมเหล่านี้น่าจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น

คุณอาจสนใจ

Related News