เลือกตั้งและการเมือง

'กระทรวงทรัพย์' วาง 5 มาตรการป้องกัน-ควบคุมน้ำเสีย 'คลองบางแพรก' เมืองนนท์

โดย attayuth_b

4 ส.ค. 2565

8 views

จากกรณีที่มีประชาชนผู้อยู่อาศัยบริเวณคลองบางแพรก (ข้างกรมราชทัณฑ์) ต.บางไผ่ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี ร้องเรียนถึงความเดือดร้อนเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียจากคลองบางแพรก ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งได้ทำหนังสือประสานไปยัง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา และควบคุมคุณภาพน้ำที่จะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน มี.ค.65 นั้น

วันนี้ (4 ส.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.65 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีหนังสือถึง นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เรื่อง ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกี่ยวกับการปล่อยน้ำเสียออกมาจากคลองบางแพรก (ข้างกรมราชทัณฑ์) ลงแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสาระสำคัญระบุว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้รับเรื่องร้องเรียนการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.นนทบุรี และได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี เมื่อวันที่ 13 มี.ค.65 พบว่า จุดปล่อยน้ำเสียดังกล่าว เป็นสถานีสูบน้ำคลองบางแพรก (กรมราชทัณฑ์) รับผิดชอบโดยสำนักงานเทศบาลนครนนทบุรี ในช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ แจ้งว่า บานประตูระบายน้ำของสถานีฯ ที่เปิดเพื่อระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแบบยกขึ้นลงชำรุด ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.65 ระหว่างการซ่อมแซม จึงใช้วิธีสูบน้ำออกจากคลองบางแพรก (กรมราชทัณฑ์) วันละ 2-4 ครั้ง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อระดับน้ำในบ้าน ห้องน้ำ ห้องสุขาของประชาชนที่อยู่ติดริมคลอง มีฟองสีขาวเกิดขึ้นในช่วงที่เปิดเครื่องสูบน้ำ สภาพน้ำในคลองบางแพรกเป็นน้ำเสียจากชุมชนมีสีดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็น ก่อนที่การดำเนินการซ่อมแซมประตูระบายน้ำจะเสร็จเรียบร้อยในภายหลั'

หนังสือแจ้งต่อว่า ทั้งนี้คลองบางแพรก เป็นคลองสาธารณะที่อยู่ในการดูแลของสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขานนทบุรี ความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร มีแหล่งกำเนิดของน้ำเสีย ได้แก่ เรือนจำบางขวาง วัด ชุมชนริมน้ำ ร้านอาหาร ศูนย์การค้า และพื้นที่สวนเกษตร จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำในภาคสนาม จำนวน 3 จุดทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา และในคลองบางแพรก พบว่ามีคุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยจัดอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก โดยสภาพน้ำในคลองก่อนถึงประตูระบายน้ำ มีสีดำ และมีกลิ่นเหม็น น้ำมีการไหลเวียนช้า และมีเศษวัชพืชปกคลุม  กรมควบคุมมลพิษ ได้แจ้งให้เทศบาลนครนนทบุรี เร่งดำเนินการซ่อมแชมประตูระบายน้ำสถานีสูบน้ำคลองบางแพรกโดยเร็ว พร้อมสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชนในการลดการทิ้งของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ และติดตั้งถังบำบัดน้ำเสียครัวเรือน รวมทั้งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยจัดทำเป็นแผนงานแก้ไขปัญหาเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำเสียในระดับจังหวัด




หนังสือแจ้งอีกว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับคุณภาพน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2562-2570 เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางในการจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำเสียให้สอดคล้องกับสถานการณ์ คุณภาพน้ำและใช้เป็นกรอบแนวทางดำเนินการร่วมกันในการยกระดับคุณภาพน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาภายใต้ แผนแม่บทด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.256–2580) และได้จัดส่งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำสำหรับใช้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 โดยกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา 5 มาตรการ คือ

1.การป้องกัน ควบคุม กำกับ ดูแลและบังคับใช้กฎหมาย 2.การลดการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ 3.การติดตามตรวจสอบและการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 4.การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งน้ำ และ 5.การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกให้กับทุกภาคส่วน

หนังสือระบุด้วยว่า ปัจจุบันจังหวัดนนทบุรีมีระบบบำบัด น้ำเสียชุมชน 2 แห่ง คือระบบบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาลนครนนทบุรี รองรับน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนของเทศบาลนครปากเกร็ด แต่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่บริเวณคลองบางแพรก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครนนทบุรี ทาง จ.นนทบุรี จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ขึ้น เพื่อผลักดันส่งเสริมให้หน่วยงานราชการ สถานศึกษาและศาสนสถานในพื้นที่ มีระบบบำบัดน้ำเสีย และผลักดันให้เกิดระบบบำบัดน้ำเสียรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อรองรับน้ำเสียที่เพิ่มขึ้น โดยคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมในคลองบางแพรกส่วนใหญ่เกิดจากน้ำเสียชุมชนที่กระจายตัวในพื้นที่ ซึ่งเป็นบ้านเรือนอาคารที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำเสียในพื้นที่ จ.นนทบุรี เป็นรูปธรรมและยั่งยืน การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยกลไกการขับเคลื่อนของคณะทำงานแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ จ.นนทบุรี และการดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเทศบาลนครนนทบุรี, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานนทบุรี, โครงการชลประทาน จ.นนทบุรี สำนักงานชลประทานที่ 11, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.นนทบุรี, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมควบคุมมลพิษ

“ต้องเร่งผลักดันการจัดให้มีระบบรวบรวมน้ำเสียในบริเวณชุมชน ที่อยู่ใกล้เคียงคลองบางแพรกเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาลนครนนทบุรี และมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือคลองสาธารณะ พร้อมส่งเสริมให้บ้านเรือน อาคารทุกประเภท สถานประกอบการ ที่อยู่ริมน้ำต้องมีการติดตั้งถังดักไขมันและ/หรือระบบบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิด เพื่อลดการระบายน้ำเสียและบำบัดน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษของตนเองก่อนปล่อยออกสู่ภายนอก โดยกรมควบคุมมลพิษ จะดำเนินการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดต่อไป” หนังสือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุ


คุณอาจสนใจ