เลือกตั้งและการเมือง

รวบตึงประเด็นเด็ด อภิปรายไม่ไว้วางใจ วันแรก (19 ก.ค.2565)

โดย thichaphat_d

20 ก.ค. 2565

23 views

ชลน่าน - นายกฯ ฟาดกันเดือด

- นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้าน อ่านญัตติ พร้อมระบุถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องการจัดการปัญหาโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ต่างประเทศ พร้อมกล่าวหาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นกลุ่ม 608 ที่ป่วยแก่ไร้ความสามารถ ไม่พร้อมบริหารประเทศ และเอื้อพวกพ้อง  ก่อนจะปิดท้ายว่า หากไม่ตายในเวทีสภา ก็จะตายในสนามเลือกตั้งแน่นอน



- ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะขึ้นชี้แจง โดยบอกว่าที่ผ่านมามีผลงานมากมายแต่ทำไมไม่เข้าใจ พร้อมบอกว่าข้อมูลที่นำมาใช้เป็นข้อมูลเท็จ ก่อนที่จะปิดท้ายว่า มีคนทีฝ่ายค้านชื่นชมว่าทำงานเก่งกว่าตัวเอง เอากลับมาให้ได้ก็แล้วกัน


อภิปรายอนุทิน ปมกัญชา

- จากนั้นเป็นการอภิปราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรงสาธารณสุข ประเด็นอยู่ที่การบริหารจัดการโควิด-19 ที่ผิดพลาด แต่ที่เป็นไฮไลท์ คือ เรื่อง “กัญชา” ที่โจมตีว่าเป็นการมอมเมา และจงใจที่สร้างสูญญากาศ

- ฝ่ายค้านเปิดคลิปหาเสียงเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562  ซึ่งครั้งนั้นนายอนุทินบอกว่า สามารถ “พี้กัญชา” ได้  เป็นการแสดงให้เห็นว่าสามารถใช้กัญชาเชิงสันทนาการได้



- ซึ่งฝ่ายค้านก็จี้ให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยนายอนุทิน ระบุว่า ต้องดูทั้งคลิป ดูสั้นๆแค่นี้ไม่ได้ เรื่องคลิปมันตัดต่อกันได้ พร้อมกับบอกว่า ในการพูดกับชาวบ้านอาจมีการติดตลกบ้าง ในอนาคตผมอาจต้องระมัดระวังคำพูดของผม สิ่งใดที่เป็นสิ่งรบกวนผมต้องกราบขออภัยด้วยครับ" 

- ส่วนเรื่องการอภิปรายเรื่องวัคซีน และการบริหารโควิด นายอนุทินโจมตีฝ่ายค้านว่า การดูถูกหลักการแพทย์ การด้อยค่าวัคซีน ด้อยค่ายา ด้อยค่าเวชภัณฑ์ ท่านโหดร้ายนะครับ ท่านเหี้ยมโหดมากเลย และทุกอย่างท่านแลกหมด ท่านแลกแม้กระทั่งชีวิตของพี่น้องประชาชนเพียงเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมือง มันไม่คุ้มค่าครับ ไม่ควรทำ


อภิปราย ศักดิ์สยาม กับข้อกล่าวหาซุกหุ้น

-  นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดประเด็นเรื่องการซุกหุ้นของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

-  ทำความเข้าใจง่าย คือ  มีการกล่าวถึงบริษัทที่ชื่อ “บุรีเจริญ” ซึ่งก่อตั้ง ก่อตั้งในปี 2539 โดยมี ตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือบ้านของ ศักดิ์สยาม

-  ก่อนที่ตระกูลชิดชอบ จะออกจากการถือหุ้น หจก. นี้ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น ในปี 2540 ซึ่งก็เป็นช่วงที่มีตำแหน่งทางการเมือง

-  จนกระทั่งปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงหลังการยึดอำนาจ ที่คสช. ครองอำนาจและอาจจะอยู่ยาว นายศักดิ์สยาม จึงกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของบุรีเจริญ ในปี 2558 และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง และเพิ่มทุนเป็น 120 ล้าน

- แต่เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 ศักดิ์สยาม ก็โอนหุ้นทั้งหมดไปให้นอมินี ที่ชื่อ “ศุภวัฒน์”  เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ สนช. เห็นชอบกฎหมายเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้ย้ายที่ตั้งสำนักงานออกไปที่อื่น ซึ่งกว่าจะย้ายออกก็เป็นวันที่ 18 มิถุนายน 2562 ก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน

- จึงมีการมองว่านี่เป็นการโอนหุ้นให้นอมินี เพราะไม่พบหลักฐานว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเลย



- ทั้งนี้ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตสามข้อ

1.ขายหุ้นต่ำกว่าราคาทุน สมมติเป็นการให้หุ้นฟรี ศุภวัฒน์ จะต้องยื่นส่วนที่ต่ำกว่าทุน 120 ล้านบาทเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานการเสียภาษี และถ้า นายศักดิ์สยาม ให้หุ้นฟรีก็ตีความได้เลยว่า ศุภวัฒน์เป็นนอมินี

2.ขายเกินราคาทุน หรือขายได้กำไร  ศักดิ์สยาม จะต้องยื่นส่วนเกินทุนเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่พบหลักฐานการเสียภาษีของเงินส่วนนี้เช่นกัน และหากเป็นไปตามกรณีนี้ หมายความว่านาย ศักดิ์สยาม สำแดงรายได้เป็นเท็จ และหลบเลี่ยงภาษี

3.ขายเท่าราคาทุน ผู้ซื้อและผู้ขายหุ้นไม่ต้องเสียภาษีใดๆ แต่จะถือเป็นซูเปอร์ดีลที่ซื้อบริษัทในราคาถูกมาก และถ้ามีการซื้อขายหุ้นกันที่ 120 ล้านบาทจริง เงินก้อนนี้ก็ควรต้องถูกแสดงในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่น ปปช. ในปี 2562 แต่ไม่มี

- ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มว่า “ศุภวัฒน์” หรือคนที่ถูกอ้างว่าเป็นนอมินีแจ้งข้อมูลรายได้เพียงปีละประมาณหนึ่งแสนบาท แล้วมีแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียวคือการได้เงินเดือนละ 9,000 บาท จากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลชิดชอบ แต่กลับสามารถซื้อต่อที่ดินในพื้นที่พิพาทเขากระโดง ต่อจาก ชัย ชิดชอบ บิดาของ ศักดิ์สยาม และซื้อหุ้น หจก.บุรีเจริญ ทั้งหมดมาจาก ศักดิ์สยาม ได้

- และคนนี้เข้าเป็นลูกจ้างบริษัท ศิลาชัย ในปี 2558 ในเวลาไล่เลี่ยกับช่วงที่ศักดิ์สยาม เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทศิลาชัย ก่อนที่จะมารับโอนหุ้น บุรีเจริญ ทั้งหมดมาจากศักดิ์สยาม ในปี 2561

- นอกจากนี้ บริษัทศิลาชัย ยังกู้หนี้ระยะยาวจากลูกจ้างคนนี้ ในช่วงปี 2561-2564 ยอดสุดท้ายอยู่ที่ 250.2 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นการกู้เงินไม่มีสัญญา ไม่คิดดอกเบี้ยใดๆ แล้วขณะที่ขาดทุนและติดหนี้ก้อนโตกับลูกจ้างคนนี้ ในปี 2562 บริษัทศิลาชัยยังบริจาคให้พรรคภูมิใจไทยไป 4.7 ล้าน เขาก็ยังใจป้ำ ร่วมบริจาคให้พรรคไปอีก 2.77 ล้านบาท และให้ หจก.บุรีเจริญ ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ บริจาคให้พรรคไป 4.8 ล้านบาท

- ซึ่งนายศักดิ์สยามยังไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยระบุว่าจะชี้แจงในวันนี้


อภิปราย สุชาติ ปมนำเงินประสังคมให้พวกพ้องไปปั่นหุ้น

- นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย อภิปราย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว. แรงงาน

- ประเด็นแรกกล่าวหาว่า มีการนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามา แต่ไม่มีการกักกันโรค และส่งยังบริษัทพรรคพวก ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องออกค่าใช้จ่าย แต่บริษัทเป็นคนออกค่าใช้จ่าย 15,000 บาทต่อหัว และเมื่อไม่กักกันก็ทำให้เกิดการระบาดของโรค นอกจากนี้ ยังนำแรงงานที่เข้ามาไปส่งยังบริษัทที่ชลบุรี ซึ่งเป็นบริษัทพรรคพวกของรัฐมนตรี พร้อมเก็บค่าหัว ขณะเดียวกัน ยังให้ลูกน้องเป็นคนเก็บค่าหัวแรงงานไทยที่เดินทางไปต่างประเทศคนละ 3,000 บาท



- แต่ที่เป็นไฮไลท์คือ  มีการอภิปรายว่า ก่อนที่นายสุชาติ นั้นโอนหุ้นให้นอมินี

- เมื่อตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทที่นายสุชาติเป็นเจ้าของ มีการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด(มหาชน) โดยกรรมการผู้มีอำนาจคือ ภรรยาของนายสุชาติ โดยนายสุชาติถือหุ้น 171 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.66% ภรรยาถือหุ้น 130 ล้านหุ้น คิดเป็น 21.57%  

- ต่อมา 11 มี.ค.2565 นายสุชาติได้โอนหุ้นให้นาย ล. 79 ล้านหุ้น โอนให้นาย ส.12 ล้านหุ้น และอีก 79 ล้านหุ้นให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

- นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาปั่นหุ้นพร้อมบอกด้วยว่า นายสุชาติมีความสนิทสนมกับนาย สอภอ. ซึ่งเป็นนักปั่นหุ้นและนักฟอกเงิน จึงตั้งคำถามว่าทั้งสองมีการเอื้อประโยชน์อย่างไร ขณะเดียวกัน นายสุชาติ ยังนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปซื้อหุ้นช่วยเหลือบริษัทพลังงานของนายสอภอ. ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาเศรษฐีลำดับต้นๆของประเทศไทยจากการปั่นหุ้น โดยขณะนั้นบริษัทของ “สอภอ” กำลังประสบปัญหา ซึ่งปกติการนำเงินประกันสังคมไปลงทุนต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่ความมั่นคงสูง แต่นายสุชาติกลับนำเงินไปให้เพื่อนเพื่อปั่นหุ้น 3-4 บริษัทจนร่ำรวย

- นายนิคม ยังเปิดเผยอีกว่า บริษัทลูกของนายสอภอ.ก็กลับมาซื้อหุ้นของบริษัทที่แต่เดิมเป็นของนายสุชาติ ซึ่งมีภรรยาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ เมื่อดูผลประกอบการของบริษัทดังกล่าว พบว่า ขาดทุนมาโดยตลอด แต่สิ่งที่ประหลาดใจคือ ในเมื่อบริษัทติดลบ แต่หุ้นกลับพุ่งขึ้น จึงมีการสงสัยว่า ปั่นหุ้นหรือไม่ เรื่องนี้ กลต.ควรจะต้องตรวจสอบ และส่วนตัวจะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบด้วยเช่นกัน

- ขณะที่นายสุชาติชี้แจงว่า การตัดสินใจลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบอร์ดประกันสังคม

- ขณะที่ความเป็นมาของการถือหุ้น ARIN นั้น นายสุชาติรับว่า ก่อนเข้าส.ส.ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มา ไม่ได้ค้าแป้ง และทำทุกอย่างบนโต๊ะ เปิดเผย ตรวจสอบได้

- เมื่อกฎหมายห้ามถือหุ้นเกิน 5 % พอรับตำแหน่งก็ดำเนินการตามเงื่อนไขกรอบเวลาที่กำหนดทันที ทั้งการแจ้งประธานป.ป.ช. การโอนหุ้นให้กองทุนจัดการหุ้นรัฐมนตรีรับไปบริหารดูแล ที่บอกว่าราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นมานั้น ตอนนี้หุ้นทั้งหมดก็ยังอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์กองทุนจัดการหุ้นรัฐมนตรีเท่าเดิม ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไร

- ส่วนที่ให้ภรรยาเป็นกรรมการผู้จัดการ ก็อยากถามกลับว่า ถ้าเป็นท่าน ท่านอยากให้ภรรยาตกงานหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News