เลือกตั้งและการเมือง

‘ปานเทพ’ โชว์งานวิจัยและ “สิทธิบัตรยากัญชาต่างชาติ” ทำไมไม่ควรคุมเข้มกว่าบุหรี่-เหล้า

โดย attayuth_b

1 ก.ค. 2565

60 views

วันนี้ (1 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ส่วนตัว ถึงงานวิจัยในวารสารทางด้านการเสพติดชื่อ  Drug and Alcohol dependence ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 พบว่าการสูบกัญชาเสพติดยากกว่าการติดเหล้าและติดบุหรี่นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการใช้ โดยบุหรี่มีโอกาสเสพติดได้มากที่สุดร้อยละ 67.5, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสเสพติดร้อยละ 22.7, ในขณะที่กัญชามีโอกาสเสพติดได้เพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้น[1]

ในทางตรงกันข้าม กัญชา ช่วยการนอนหลับ เจริญอาหาร ลดการอักเสบ ลดการเกร็ง ลดอาการปวด ฯลฯ เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อประชาชนด้วย แม้แต่รากกัญชา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขก็ยังพบในหลอดทดลองว่าอาจจะฟื้นฟูเนื้อเยื้อปอดหลังติดเชื้อโรคโควิดได้[2] และมีผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากใช้กัญชาใต้ดินอยู่ในประเทศไทย

ยิ่งไปกว่านั้นบุหรี่และเหล้า ได้ถูกประกาศโดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 57 ปี พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ[3]

ในขณะที่ “กัญชา”แม้จะมีสารที่เกิดการเผาไหม้บางชนิดจากการสูบที่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่เมื่อพิจารณาวิจัยอย่างรอบด้านและตัดปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปรกวนผลทั้งหลายแล้ว สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศก็ยังไม่เคยให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีสารก่อมะเร็งของสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศตลอด 57 ปีจนถึงปัจจุบันเช่นกัน

ในขณะที่คนไทยเถียงกันเองและไม่เชื่อสรรพคุณกัญชา หลายคนคงลืมไปแล้วว่า ผมและคณะในฐานะเครือข่ายประชาสังคมกัญชาทางการแพทย์  และมหาวิทยาลัยรังสิตได้เคลื่อนไหวคัดค้าน และช่วยกันยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาต่างชาติที่มาจดสิทธิบัตรเอาไว้กับกระทรวงพาณิชย์ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2561-2562 ว่าตอนนั้นต่างชาติเขาจดสิทธิบัตรกัญชา ในการรักษาหลายโรค ได้แก่ มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง ฯลฯ ผมและคณะได้เห็นภัยคุกคามดังกล่าว จึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เรียกร้องให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่รอจำนนถูกล่าอาณานิคมทางสุขภาพด้วยสิทธิบัตรยาต่างชาติ ที่จะมาพร้อมกับการสนับสนุนของแพทย์และเภสัชกรไทยที่จะมีผลประโยชน์ร่วมด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนได้เฝ้ารอการใช้กัญชาทางการแพทย์มาอย่างยาวนาน แต่กลับปรากฏว่ายังคงมี “อคติทางการแพทย์” ที่ปฏิเสธการจ่ายยากัญชาหรือน้ำมันกัญชาให้กับคนไข้ และยังมีแพทย์และเภสัชกรบางกลุ่มที่ต่อต้านกัญชาในขณะนี้มี “ผลประโยชน์หรือส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทยา” และบริษัทยาข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มยาแก้ปวด

ดังปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ “น้ำมันกัญชา” ของภาครัฐจ่ายให้กับประชาชนไปครึ่งหนึ่ง แต่หมดอายุไปกว่าครึ่ง อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำมันกัญชาได้ยาก ไม่ครอบคลุมทั้งตำรับ และข้อบ่งใช้ตามที่ประชาชนต้องการ ทำให้ประชาชนต้องใช้กัญชาใต้ดินที่มีอันตรายจากสารพิษและราคาแพง บ้างต้องปลูกกัญชาเพื่อใช้เอง บ้างก็สกัดเองเบื้องต้นเพื่อใช้ในครอบครัวเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 50 ที่ใช้น้ำมันกัญชานั้น เป็นน้ำมันกัญชาใต้ดิน และที่ภาคกลางและภาคใต้เกือบร้อยละ 80 ประชาชนต้องใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินทั้งสิ้น

ลองพิจารณาดูว่าผลของนิด้าโพลระบุว่า มีประชาชนมากถึงร้อยละ 32.98 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชามาแล้ว หมายถึงมีคนเคยใช้กัญชามาแล้วกว่า 18.8 ล้านคนในประเทศไทย แต่กลับมีผู้ที่ต้องได้รับเข้าบำบัดน้อยมาก และแปลว่าติดยากจริงๆ โดยสูงสุดก็ไม่เกิน 250 คนใน 1 เดือนในปี 2563 และลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย ดังนั้นหากมีการติดง่ายจริงหรือส่งผลกระทบรุนแรงจริง เราคงต้องเห็นการเสพกัญชาทั่วบ้านทั่วเมืองติดกันงอมแงมในช่วงสุญญากาศยิ่งกว่านี้หลายร้อยหลายพันเท่าตัวแล้วจริงหรือไม่  

ดังนั้นผลสำรวจของนิด้าโพลประชาชนจึงมีมากถึงร้อยละ 58.55 ที่รวมกันทั้งเห็นด้วยมากและค่อนข้างเห็นด้วยในการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย ย่อมแสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้าใจและมีความรู้มากพอที่จะใช้คุณประโยชน์ของกัญชามากแล้ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆเลยที่จะควบคุมให้กัญชาเป็นยาเสพติด หรือถูกคุมเข้มให้ยิ่งกว่าเหล้าและบุหรี่





แท็กที่เกี่ยวข้อง  กัญชา ,ปานเทพพัวพงษ์พันธ์

คุณอาจสนใจ

Related News