เลือกตั้งและการเมือง

“อนุพงษ์” แจง รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีหน้าที่แค่กำกับดูแล ให้อำนาจเต็ม ผู้บริหารกทม-สภากทม. ชุดใหม่ ตัดสินใจ

โดย attayuth_b

26 พ.ค. 2565

10 views

วันนี้ (26 พ.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตอบกระทู้ถามสดของ นายเผดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ต่อที่ประชุมสภาฯ เรื่อง การบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กำลังจะหมดสัญญา

โดยนายประเดิมชัย กล่าวว่า การต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เป็นมหากาพย์ มีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท  ซึ่งจะตกอยู่กับพี่น้องประชาชน  ที่ใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากยังหาข้อสรุปไม่ได้กับการหาแนวทางแก้ปัญหาสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า และจะมีการจะต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี โดยมีค่าโดยสารตลอดสายอยู่ที่ 65 บาท ท่านได้ไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ที่กทม.ชงขึ้นมา หรือมีส่วนสมรู้ร่วมคิดกับเรื่องนี้หรือไม่  การนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 ครั้ง จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในการรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชน

พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า ว่า สัมปทานเดิมของกทม. มีอายุ 30 ปี โดยบีทีเอส.ลงทุนทั้งหมด รายได้เป็นของเอกชน ต่อมา กทม.มีการไปดำเนินการส่วนต่อขยาย 1 ขึ้นมา กทม.จึงจ้าง บีทีเอส เดินรถ แล้วรัฐบาล ให้โอนส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นปัญหา เพราะเมื่อหมดสัมปทานส่วนที่หลักแล้ว จะเป็นสมบัติของ กทม. แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ  รัฐบาลให้ รฟม. โดยใช้เงินรัฐบาลไปลงทุน ทำให้เกิดควมยุ่งยากกับประชาชน ถ้าเป็นคนละเจ้าดำเนินการ รัฐบาลต่อมาได้โอนจาก รฟม.ไปที่ กทม. และโอนภาระหนี้มาด้วย กทม.เมื่อรับมาต้องจ้างเดินรถ เพื่อให้เป็นผู้บริการเดียวกัน

สิ่งที่ตามมาคือภาระหนี้สิน กทม.จะดำเนินการอย่างไร ก็ทำ มาร์เก็ต ซาวดิ้ง หาผู้ประกอบการ แต่ทำแล้วไม่มีใครสนใจจะมา เพราะเป็นการต่อบั้นปลายและอาจจะขาดทุน เพราะไม่เชื่อมต่อกับช่วงหลัก กทม.จึงขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล โดยหาเงินกู้และหนี้ในส่วนนี้ กทม.ก็มีปัญหาหนี้สิน และสร้างเสร็จ ต้องวางระบบสัญญาณ ให้เดินรถได้  ทำให้มีปัญหาการขาดทุนในส่วนต่อขยาย 1-2 กทม.เตรียมทำการหาผู้ร่วมทุน ทำให้เกิดปัญหาค่าโดยสารแน่นอน และกทม. ต้องการเงินอุดหนุนจากรัฐบาล กทม.นำเรื่องนี้มาหรือกับ คสช. จึงมีคำสั่งคสช.ขึ้นมา สามารถให้เจรจากับผู้ดำเนินการเดิมได้

รมว.มหาดไทย ชี้แจงอีกว่า มีคำถามพื้นฐาน อยู่ว่า ทำไมไม่ทำตาม พ.ร.บ.เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (PPP) มีอยู่ ทำไมไม่ทำตาม อันนี้เป็นคำถามที่เจออยู่ ซึ่งหากทำ PPP แล้วมีปัญหาเรื่องค่าโดยสาร และต้องใช้เวลา 2 ปี กทม.แจ้งว่าไม่สามารถแบกรับหนี้สิน ทั้งภาระโครงสร้างพื้นฐาน ค่าวางระบบสัญญาณ และค่าการเดินรถได้ จะกระเทือนต่อกทม.ด้านอื่น ๆ จึงขอให้ คสช.ช่วยแก้ปัญหา คสช.จึงให้ตั้งกรรมการขึ้นมาเจรจา หน้าตาโครงสร้างกรรมการเหมือนกับ PPP เพียงแต่ระยะเวลาจะกระชับ สั้น ซึ่งในหนังสือสั่งการของคสช. เมื่อดำเนินการเสร็จให้กรรมการส่งให้กระทรวงมหาดไทย นำเสนอ ครม. ตัดสินว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในการจะแก้สัญญา ที่หลายคนเรียกว่าการต่อสัมปทาน นั่นคือหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ต้องนำเสนอ ไม่ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ก็ต้องไปให้มันจบสุดทาง

“ขณะนี้ เรื่องอยู่ที่ ครม. ไม่สามารถเสนอมาได้ 3-4 ครั้ง แต่ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยนำเสนอ และไม่ใช่กระทรวงมหาดไทยไปเจรจา แล้วน่าจะผิดกฎหมายด้วยถ้าผมไปยุ่งกับราคาหรือว่า ข้อตกลงอะไร เพราะผมไม่ได้เป็นกรรมการในการที่จะเจรจาตกลง การที่จะมากล่าวอ้างว่าผมรู้เห็นเป็นใจ หรือไม่อย่างไร มันถูกมันแพง ผมตอบว่า ไม่ว่าจะถูกจะแพง กระผมไม่เกี่ยว กระผมมีหน้าที่เอาเรื่องนี้เข้าเจรจา เจรจาเสร็จเสนอเข้า ครม. เพื่อให้ ครม.มีมติว่า จะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ต้องจบที่นั่น  ขณะนี้เรื่องยังอยู่ที่ ครม. ซึ่ง ครม.ให้มาปรับตัวเลขเท่านั้น แต่จะไม่ไปเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น เพราะผมถือว่าคณะกรรมการเขาทำมาจบขั้นตอนแล้ว มันจะแพงก็ไม่ต้องเห็นชอบ มันไม่โปร่งใสก็ไม่ต้องเห็นชอบ มันไม่ถูกต้อง ครม.ก็ไม่ต้องเห็นชอบ ท่านจะเห็นว่า เสนอมาตั้งแต่ปี 2563 สองปีกว่ามาแล้ว ครม.รับฟังข้อคิดเห็นตอบคำถาม ข้อเสนอแนะ ข้อคัดค้านทั้งหมด 11 ครั้ง โดย กทม.เป็นคนตอบ ก็ให้ข้อมูลกับ ครม. เพื่อให้ ครม.ตัดสินใจ ครม.ต้องฟังแล้วตัดสินใจ แม้แต่ สภาผู้แทนราษฎร เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ ครม.ก็ใช้เป็นข้อมูล ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาอะไรทั้งสิ้น สรุปว่าไม่ใช่ผม คสช.เขาเอาไปแก้ ทีนี้ถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในช่วงที่ผ่านมา เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไปว่า มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสภาฯ กทม.ใหม่ นายกรัฐมนตรี บอกว่าให้ชะลอการนำเข้าครม. เมื่อผู้ว่าฯกทม.ไม่ว่าท่านใดเข้ารับหน้าที่ใหม่ สภากทม.ใหม่ จะทำอย่างไร ถ้าตอบมาว่าจะทำเองทั้งหมด เมื่อหมดอายุสัมปทาน ที่เสนอมาทั้งหมดจบ หยุด จะไปเจรจาใหม่ ประมูลใหม่ หา PPP ใหม่ทำอย่างไร อยู่ที่ผู้บริหารและสภากทม.ดำเนินการ ได้เลย จะเอาถูกเท่าไหร่ก็ได้นะครับ

นายเผดิมชัย ถามคำถามที่2ว่า  ได้ฟัง รมว.มหาดไทย ตอบคำถามแล้ว เชื่อว่า คนไทยในกทม.และทั้งประเทศ มีความรู้สึกในความพยายามที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบ ในฐานะ รมว.มหาดไทย ที่กำกับดูแล กทม. และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง กระทรวงหมาดไทย เป็นเจ้าของสัมปทาน แล้ว มอบหมายให้กทม.ดูแล ดังนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ การนำ 3 สัญญามาพัวพันให้เกิดเงื่อนปม สร้างปัญหาความยุ่งาก เหมือนเขียนบทละครที่ทำให้ดูเสมือนว่า มีความจำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหา แต่ทั้งปวง เกิดจาก ขบวนการของหน่วยงานและรัฐมนตรีที่กำกับดูและจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ กทม.นำมามอบให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม ทำ ซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งผลประโยชน์ ในการสร้างภาระให้ประชาชน จึงไม่ควรจะตอบปฏิเสธตรงนี้ได้ จึงขอถามที่ 2 ว่าคำสั่ง คสช. ในระหว่างมีการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 3 ปีแล้ว ยังหาทางออกไม่ได้เลย และสัญญาหลักที่จะหมดอายุสัมปทาน ในปี 2572 กทม.ได้เซ็นต่อสัญญาให้กับ บริษัทบีทีเอส ในส่วนสัญญาหลักไปอีก 13 ปี ให้หมดสัญญาในปี 2585 ถามว่า กทม.ใช้สิทธิ์อะไร ในการไปต่อขยายอายุสัญญาขณะที่อายุสัญญาหลักที่ยังไม่หมดอายุสัญญา คือช่วง หมอชิต - อ่อนนุช  เพื่อให้สอดคล้อง กับส่วนที่ 2 สถานี ตากสิน-บางหว้า และ อ่อนนุช - สำโรง ที่อ้างว่า กทม.พยายามหาคนเดินรถแต่ไม่มีใครสนใจ ถ้าใครเข้ามาเดินรถก็บ้าแล้ว เพราะส่วนหัว ส่วนท้าย ไม่ใช่พื้นที่หลัก ใครจะกล้ามาลงทุน เพราะขาดทุนแน่นอน แต่กทม.และมหาดไทย นำ ส่วนต่อขยายที่ 2 หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ เอา 2 เรื่องนี้ มาผูกเงื่อนปมที่ทำให้เป็นปัญหาในขณะนี้  

“ท่านต้องตอบนะครับในประเด็น ในส่วนของสัญญาหลักที่จะหมดอายุสัมปทาน ในปี 2572 แต่ กทม.ได้เซ็นต่อสัญญาให้กับ บริษัทบีทีเอส ในส่วนสัญญาหลักไปอีก 13 ปี ให้หมดสัญญาในปี 2585 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน  ที่มีรายรับจากทั้งค่าตั๋วโดยสาร และรายได้ส่วนอื่น ที่หาผลประโยชน์จากตัวสถานีทั้งเรื่องของ พื้นที่ค้าขาย และการนำเอาเคเบิ้ลใยแก้ว มาวางในสถานี ท่านในฐานะกำกับดูแลกทม.ได้ทำอะไรที่กทม.ไปทำนอกอำนาจหน้าที่นี้”

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ปมต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องกัน ถูกต้อง เพราะมีทั้งส่วนต่อขยาย 1 – 2 – 3 ถูกต้องที่สุด เพราะปัญหาคือเราไม่สามารถให้ผู้ให้บริการเป็น 3 รายได้ แม้ในส่วนต่อขยายใหม่ ก็ต้องนำส่วนหลักเข้ามาอย่างเลี่ยงไม่ได้  แต่ตนไม่ได้ตั้งปัญหา ย้ำว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้น รฟม.บอกเองว่า ไปอยู๋ช่วงท้ายอย่างไรก็ขาดทุน คสช.จึงบอกว่ายังไงก็ต้องเอามารวมอยู่เป็นเจ้าเดียวกัน กทม.ก็อยากได้ แต่ไม่อยากได้หนี้ รัฐบาลบอกไม่ได้ ต้องเอาหนี้ไปด้วย ปมต่างๆ ต้องเกี่ยวกันแน่นอน ไม่สามารถสละไปได้เลย ต้องมาอยู่ด้วยกัน ในกฎหมายพรบ.ร่วมทุน ต้องเอาอันเก่ามาอยู่ร่วมด้วย ตนไม่ได้ทำแต่ กรรมการ เป็นคนทำ เรื่องการกำกับดูแล คือให้องค์กรส่วนท้องถิ่นทำได้ ตามอำนาจหน้าที่ แต่ไม่ใช่ไปทำในสิ่งที่ ไม่มีอำนาจไม่ได้ เรื่องงบประมาณก็เป็นของเขา ตนมาได้ร่วมประชุมสภากทม.ด้วย ไม่สามารถออกความคิดได้ เลย แต่กำกับได้ ถ้าไม่บริสุทธิ์ ไม่โปร่งใส เราทำได้ แต่ไม่ใช่ไปบงการสั่งการ ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ตรงนั้น เขาไม่เคยเชิญเข้าไปเลย ไปครั้งเดียวคือไปเปิดการประชุมครั้งแรกเท่านั้น ส่วนเรื่องการเดินรถ ขณะนี้กทม.จ้างเดินรถกับเอกชนอยู่ เพื่อให้ประชาชนได้ขึ้นรถ ซึ่งยังไม่มีการเก็บเงิน ดังนั้นประชาชนยังได้ประโยชน์อยู่ แต่ทำถูกกฎหมายหรือไม่ ขณะนี้หน่วยงานทางกฎหมาย อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กำลังดำเนินการอยู่ ผู้ว่าฯท่านใดทำผิด หน้าที่ผมคือสั่งให้หยุดปฏิบัติราชการเท่านั้นเอง ถูกกฎหมาย ผิดกฎหมาย มีคนรับผิดชอบ และมีคนดำเนินการอยู่  

นายเผดิมชัย ถามครั้งที่ 3 ว่า รมว.มหาดไทย ไม่ได้ตอบในสิ่งที่พยายามถาม  คือ ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแล กทม. เมื่อเห็นหน่วยงานกำลังทำการในสิ่งที่เกิดความเสียหายต่อราชการ โดยเฉพาะไปต่อสัญญาสัมปทาสายหลัก ส่วน อ่อนนุช หมอชิต อีก 13 ปี ทั้งที่สัญญายังไม่หมด จากปี 2572 ไปถึง 2585 ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งมันไม่เกี่ยวข้องกับส่วนต่อขยายอื่น ๆ ที่พยายามเอามาโยงกัน ท่านตั้งคณะทำงานมาศึกษาบ้างหรือไม่ หรือมอบหมาย กทม.บริหารโครงการ ชงมาให้ท่านเพียงอย่างเดียว

พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำว่า ไม่มีการไปต่อสัญญาสัมปทาน 13 ปี มีเพียงเรื่องการจ้างเดินรถ ผิดถูกอย่างไร ปปช.กำลังดำเนินการอยู่ ความโปร่งใส ไม่โปร่งใส นั้น ในส่วนของ ครม.เอง ก็มีการพิจารณาในประเด็นนี้ ซึ่งสำนักงานกฤษฎีกา ก็ชี้ ว่า ในส่วนการดำเนินการมีผลถูกต้อง แต่คนทำจะถูกผิดนั้นต้องสอบสวนอีกเรื่องหนึ่ง มันคนละเรื่องกัน ชี้แจงให้เข้าใจว่า 1.ยังไม่มีการต่อสัมปทานใดทั้งสิ้น โครงการหลักยังอยู่ที่ปี 2572 โครงการใหม่ยังไม่มี กทม.จ้างเดินรถอยู่ยังไม่ได้ทำสัมปทานให้ใครทั้งสิ้น เพื่อให้เดินรถได้ 2.ในส่วนการกำกับดูแล ก็ยืนยันว่า มีการจ้างเดินรถ ไม่มีการต่อสัมปทาน กฤษฎีกา ชี้มาว่ามีผลดำเนินการ จึงยังไม่ตั้งกรรมการตรวจสอบ ต่อเมื่อ ปปช.ชี้มาว่าการดำเนินการไม่ถูกต้อง จึงจะมีการตั้งกรรมการ ไม่มีการปล่อยปละละเลย ยึดบนผลประโยชน์ของประชาชน ถูกต้องตามกฎหมาย จึงยังไม่มีการลงมติใด ๆ ทั้งสิ้น

“ขณะนี้ จะถามกลับไปที่ กทม. ซึ่งมีผู้บริหารใหม่ สภาใหม่ กำหนดแนวทางว่าจะทำอย่างไร ผมไปขอทราบ แต่คงไม่ให้ไปตนร่วมคิด หากเขาแจ้งกลับมาว่าทำได้เองก็จบ เรื่องของ คสช.ทั้งหมด ไม่ต้องไปสนใจ 65 บาท หรือเท่าไหร่ก็ไม่ต้องไปสนใจ ต่อสัญญาหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจ อยู่ที่ว่า ผู้บริหารใหม่ และ สภาใหม่จะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร แต่ต้องอยู่บนผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน“ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว





คุณอาจสนใจ

Related News