เลือกตั้งและการเมือง

เปิด 3 สูตรเกมขับ “ธรรมนัส” สะท้อนชะตากรรมรัฐบาล สู่อุบัติเหตุทางการเมือง

โดย JitrarutP

26 ม.ค. 2565

87 views

ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ หลังมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  พร้อมกับ ส.ส.ร่วมก๊วน รวม 21 คน พ้นพรรค ดูเหมือนจะโดนใจใครหลายคน ของคนที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  แต่หมากเกมนี้ ทำเอา “บิ๊กตู่” ถึงกับต้องร้องเพลง “อย่ายอมแพ้” ย้อมใจตัวเองกลางที่ ประชุม ศบค.เศรษฐกิจกันเลยทีเดียว



สำหรับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส นาทีนี้ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะชี้ชะตากรรมของรัฐบาลได้ว่าจะอยู่หรือไป เพราะ 21 คน ถือ เป็นการร่วมตัวของกลุ่ม ส.ส.ขนาดใหญ่ ที่ถ้าตั้งเป็นพรรคการเมืองแล้วจะกลายเป็นพรรครัฐบาล ขนาดกลาง อันดับ 4 ขึ้นมาทันทีจากพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งหมด  17 พรรคการเมือง  ทีมข่าวใต้เตียงการเมือง ได้รวบรวมจำนวน  ส.ส.ในสภาปัจจุบัน จากข้อมูล ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา



สูตร1 พบว่า ปัจจุบัน มี จำนวน ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้  475 คน  มี ส.ส. ที่อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ 9 คน  โดย 475 คน แบ่งเป็น ฝ่ายรัฐบาล 267 คน ฝ่ายค้าน 208 คน จะเห็นได้ว่า ตามข้อมูลนี้ ยังไม่มีการแยกกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ออกจาก พรรคร่วมรัฐบาล  ซึ่งหากยังร่วมรัฐบาล อยู่ต่อไป รัฐบาลก็ยังมีเสียงข้างมากกว่า ฝ่ายค้าน อยู่ 59 คน



ถือเป็นสูตรหนึ่ง หาก ร.อ.ธรรมนัส ร่วมรัฐบาล ต่อไป แต่ก็มีการวิเคราะห์การที่ ร.อ.ธรรมนัส จะร่วมรัฐบาลได้ในฐานะพรรคการเมืองอันดับ4 ก็ต้องแลกด้วยการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ซึ่งหากเทียบ สัดส่วนที่นั่งของรัฐมนตรีในแต่ละพรรคแล้ว พรรคใหม่ ของ ร.อ.ธรรมนัส ต้องได้ เก้าอี้รัฐมนตรี ไม่น้อยกว่า  2 ที่นั่ง โดยเฉพาะที่นั่งของรัฐมนตรีระดับว่าการกระทรวง ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของกระแสข่าวว่าหากมีการต่อรองตามนี้จริงจะกระทบต่อที่นั่งของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาได้ ที่มี ส.ส. เพียง 12 คน  แต่มี รัฐมนตรี ถึง 2 กระทรวง  ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถ้าเป็นไปตามสูตรนี้ ปัญหากลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส อาจจะจบลง แต่จะเกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ตามมาได้



มาถึงสูตรที่2 เราได้แยกกลุ่ม ของ ร.อ.ธรรมนัส ออกมา อยู่ตรงกลาง แบบอิสระไม่อยู่กับฝ่ายใด โดยจำนวน ส.ส. ของกลุ่มนี้ 21 คน (1 คนอยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่) ถ้าออกมาจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลจริงๆ ลดเหลือ 247 คน สูตรนี้มีการวิเคราะห์กันว่า จะยิ่งเพิ่มอำนาจต่อรองให้ กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส เพิ่มขึ้น เพราะหาอยู่ตรงกลาง จะลงมติผ่านกฎหมายต่างๆให้รัฐบาลหรือไม่ก็ได้และสุ่มเสี่ยงที่ จะทำให้การทำงานฝ่ายรัฐบาลในสภาที่ยากอยู่แล้วเป็นไปได้อยากมากขึ้นอีก นักวิชาการใช้คำว่า  “เลี้ยงไข้ไปวันๆ...ชักหน้าไม่ถึงหลัง”



สูตรที่ 3 สูตรนี้ เป็นเรื่องที่เชื่อได้ว่าจากเพลง “อย่ายอมแพ้”ที่นายกฯพร่ำพรรณนาขึ้นมา อาจจะต้องเปลี่ยนเพลงไปเป็น “ถอยดีกว่า” ของนักร้องคนเดียวกันได้  เพราะสูตรนี้เป็นการเอาจำนวน ส.ส.พรรคเล็กที่มีอยู่ในฝ่ายรัฐบาล จำนวน 9 พรรค  มี ส.ส. รวม 10 คน ออกมา โดยใช้ปัจจัย ที่ว่า ร.อ.ธรรมนัส  เคยเป็นคน ดูแลใกล้ชิดและเป็นมือประสานให้ พรรคเล็กมาร่วมรัฐบาลมาก่อน ซึ่งถ้าหากพรรคเล็กเหล่านี้ เดิมตามเกมไปยืนตรงกลางร่วมกับ  ร.อ.ธรรมนัส  จะยิ่งทำให้  ร.อ.ธรรมนัส กุมอำนาจถือไพ่เหนือกว่ามากขึ้น



เหนือถึงขั้นว่า ถ้ารวมกันแล้วและไม่นับส.ส.ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส  จะมี ส.ส.มากถึง 30 คน  ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจริงๆ ลดลงเหลือ 238 คน ซึ่งเท่ากับครึ่งหนึ่งขององค์ประชุมสภา สูตรนี้แม้สภาจะเปิดประชุมได้เพราะมีเสียงถึงครึ่งหากเข้าครบทุกคน แต่การให้ความเห็นชอบ เรื่องต่างๆต้องใช้เสียงเกินครึ่งขององค์ประชุมหากไม่มีเสียงฝ่ายค้านมาช่วยรัฐบาลก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้

และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น 30 ส.ส. ของพรรคธรรมนัส และ  9พรรคเล็ก หากพลิกขั้วไปจับกับฝ่ายค้านขึ้นมาทำให้ ฝ่ายค้านที่มี 208 คน มี ส.ส. เพิ่มเป็น 238 คน  ซึ่งเท่ากับฝ่ายรัฐบาลทันที ชนิดที่ว่าปริ่มน้ำแบบเสมอมิดชิดติดขอบพร้อมพลิกขั้วรัฐบาลได้ ยิ่งบีบคั้นให้คนกุมอำนาจอย่างนายกรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน  

เรื่องนี้แม้ว่าจะเหลืออายุรัฐบาลอีกเพียงไม่ถึงปีครึ่ง แต่สำหรับการเมืองไทยแล้วทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้เกมการเมืองที่อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน เรื่องนี้บางคนบอกต้องดูกันยาวๆแต่อุบัติเหตุทางการเมืองทั้ง “ยุบสภา หรือ ลาออก” อาจจะไม่ยาวอย่างที่คิด แต่ก็ยังมีทางรอดเพราะถ้าคิดในแง่บวกแล้ว พรรคเล็ก อาจจะยังยืนหยัดเหนียวแน่นอยู่กับรัฐบาล เพราะยังมีเกมการเมือง ที่วินาทีนี้สามารถเล่นพลิกแพลงตอกลิ่มซ้ำแผล ร.อ.ธรรมนัส ได้ หากทั้ง 21 คน ย้ายไปพรรคใหม่ โดยที่มติของพรรคพลังประชารัฐยังไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนี้ จะเข้าข่าย เป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อน พ้นจาก ส.ส. ทันที ยังไม่นับ 2 ส.ส. ประชาธิปัตย์ ชุมพร – สงขลา ที่กำลังเข้ามาในสภาเพิ่มกำลังให้รัฐบาลมากขึ้น  รวมทั้ง ส.ส.ลำปาง ของกลุ่มธรรมนัส ที่ถูก เพิ่งถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ อีกราย หลัง กกต.สั่งให้เลือกตั้งใหม่ งานนี้จึงยังต้องรอดูว่า จะออกหัวออกก้อย ใครจะอยู่ใครจะไป ชะตากรรมนี้จะเป็นชะตากรรมของใคร?  



ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น  : คอลัมน์ “ใต้เตียงการเมือง”Ch3ThailandNews




คุณอาจสนใจ

Related News