เลือกตั้งและการเมือง

มติครม. ถอนร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อที่ดินในไทย ไปศึกษาให้รอบคอบ หลังกระแสตีกลับ

โดย parichat_p

8 พ.ย. 2565

373 views

หลังจากหลายฝ่าย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล กรณีเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยสามารถซื้อเเละครอบครองกรรมสิทธิที่ดินได้ 1 ไร่ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี มีมติให้ถอนร่างดังกล่าวแล้ว


นายอนุชา บูรพชัยศรี ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทย ถอนร่างกฎกระทรวง "การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าว ที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย" ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


ขณะที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยอมรับว่า จำเป็นจะต้องถอนร่างกฎกระทรวงนี้ เพราะมีความละเอียดอ่อน ต้องศึกษาผลดี-ผลเสีย ด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบคอบ


ด้านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม บอกว่าจริงๆ ร่างกฏกระทรวงฉบับนี้ จำกัดเงื่อนไขไว้รัดกุมกว่าฉบับปี 2545 เมื่อถอนฉบับนี้ออกไป ก็ต้องกลับไปใช้ฉบับปี 2545 ซึ่งมองว่ารุนแรงกว่า โดยยอมรับว่า ได้ตำหนิรัฐบาลและตำหนิตัวเองด้วย ที่ไม่ได้ชี้แจงกฎหมายฉบับนี้ ให้มีความชัดเจน จนนำมาสู่กระแสคัดค้าน


ย้อนกลับไป วันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวนี้ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เป็นการเฉพาะ เกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท


1.กลุ่มประชาคมโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง

2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย

และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1 ไร่ ตาม มาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน


โดยต้องนำเงินมาลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท โดยต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น


เเม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ถอนเเล้ว เเต่ก็ต้องจับตาว่า เมื่อรัฐบาลนำกลับไปศึกษาเเละพิจารณาความเหมาะสมเเล้ว หลังจากนี้จะมีการเสนอกลับเข้ามาอีกครั้งหรือไม่ เพราะตามกฎหมายเมื่อถอนออกไป แล้ว สามารถเสนอกลับมาใหม่ได้ ไม่น้อยกว่า 15 วัน

คุณอาจสนใจ

Related News