เลือกตั้งและการเมือง

'ชลน่าน' แนะ 'ประยุทธ์' ลาออกก่อน 23 ส.ค. เลี่ยงวิกฤตขับไล่

โดย panwilai_c

21 ส.ค. 2565

112 views

ความเคลื่อนไหวในการยื่นเรื่องของพรรคร่วมฝ่ายค้านให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ประธานสภาผู้แทนราษฏร ได้ลงนามเพื่อยื่นต่อศาสรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ 22 สิงหาคม โดยผู้นำฝ่ายค้าน อยากเห็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ลาออกเพราะครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งก่อนเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคม ดีกว่ายุบสภา



ในเวทีผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พบประชาชน มีการพูดคุยในหัวข้อ อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางประชาธิปไตย นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึง การยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ที่ได้ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ 22 สิงหาคม ซึ่งต้องติดตามว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะรับคำร้องหรือไม่ แต่ในส่วนตัวอยากเห็น พลเอกประยุทธ์ ประกาศลาออก ก่อนจะครบกำหนดเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคม เป็นการออกเพราะครบวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี



เชื่อว่าจะมีเสียงปรบมือจากประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างชัดเจน แต่หากพลเอกประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง แล้วต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ พรรคเพื่อไทย จะเสนอชื่อ นายชัยเกษม นิติศิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ยังมีชื่อเหลืออยู่ แต่ถ้าหากต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก คิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่เสนอชื่อ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร



สำหรับแนวทางตามกฏหมาย หากศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องให้วินิจฉัยการสิ้นสุดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ศาลจะต้องสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ขั้นตอนต่อไปต้องมีนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ ที่ในกรณีนี้ เป็นพลเอกประวิตร วงษ์สวุรรณ รวมถึงคณะรัฐมนตรีรักษาการณ์​ และรัฐสภา จัดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตามรายชื่อแคนดิเดตพรรคการเมือง ที่มี อยู่ 5 ชื่อที่เสนอไว้ในการเลือกตั้งปี 2562



โดยพรรคเพื่อไทยมีชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษฒ นิติศิริ พรรคภูมิใจไทย มีชื่อ นายอนุทิน ชาญวีระกูล และพรรคประชาธิปัตย์ มีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากเลือกไม่ได้ รัฐสภาสามารถเสนอชื่อคนนอกมาได้



เช่นเดียวกับกรณี พลเอกประยุทธ์ ลาออก ก็จะมีขั้นตอนในการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ แต่ถ้ายุบสภา พลเอกประยุทธ์ จะยังรักษาการณ์นายกรัฐมนตรี แต่สภาผู้แทนราษฏรต้องสิ้นสุดลง และต้องตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ภายใน 45 วัน จากนั้น กกต.ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 45 วัน หรือ 60 วัน ซึ่งจะทำให้พลเอกประยุทธ์ มีเวลารักษาการณ์ในอำนาจ ได้ 4-5 เดือน ทันการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค แต่ผู้นำฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เพราะไม่เกิดประโยชน์ และในสภาผู้แทนราษฎร ยังมีการพิจารณากฏหมายที่สำคัญ โดยเฉพาะร่างงบประมาณ ปี 2566 ที่จะพิจารณาในวันพรุ่งนี้



สำหรับโครงการ เสียงประชาชน ครั้งที่ 2 ที่เป็นความร่วมมือของ 8 สถานบันการศึกษา 8 สื่อทีวีดิจิตัลและออนไลน์ เปิดให้ประชาชนโหวตให้ความเห็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี หรือไม่ ผ่าน QR Code ซึ่งเปิดให้โหวต ตั้งแต่ 6 นาฬิกา วันที่ 20 สิงหาคม ถึงเที่ยงคืนวันที่ 21 สิงหาคม เหลือเวลาอีก กว่า 1 ชั่วโมง ประชาชนสามารถร่วมโหวตได้ แม้การวินิจฉัยจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่โครงการเสียงประชาชน เปิดโหวตนี้ขึ้นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ

คุณอาจสนใจ

Related News