เลือกตั้งและการเมือง

คณะอาจารย์นิติศาสตร์เสนอข้อกฎหมาย ตีความการนับเวลาดำรงตำแหน่ง 'นายกฯ 8 ปี'

โดย panisa_p

16 ส.ค. 2565

124 views

วันพรุ่งนี้ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่อาจารย์นิติศาสตร์ 51 คน 15 มหาวิทยาลัย ยื่นหนังสือถึงประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอข้อกฎหมายในการนับวาระการดำรงนายกรัฐมนตรี


สาระสำคัญในหนังสือที่ อาจารย์นิติศาสตร์จำนวน 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ยื่นถึงประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อกฎหมายในการนับเวลาการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่


จึงมีความเห็นใน 3 ประเด็น ที่ต้องเริ่มจาก พล.อ.ประยทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรค 4 หรือไม่ ซึ่งบทเฉพาะกาล มาตรา 264 ก็บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่เป็นก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ให้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย และจะต้องเป็นไปตามมาตรา 170 ซึ่งเป็นบทบัญญัติไว้ด้วยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่


ประเด็นที่สองต้องพิจารณาว่า มีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรนูญปี 60 ยกเว้นไม่ให้มาตรา 158 วรรค 4 ใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมาก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้หรือไม่ ซึ่งเท่าที่พิจารณาไม่พบการยกเว้นเอาไว้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เท่านั้น


สำหรับความเห็นที่ว่า การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 60 ประกาศใช้นั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ให้เกิน 8 ปี เพื่อควบคุมนายกรัฐมนตรีไม่ให้อยู่ในอำนาจนานเกินไป จึงต้องนับการดำรงตำแหน่งรวมกัน โดยมีการเทียบเคียงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคุณสมบัติส.ส.ต้องห้าม ที่เคยต้องคำพิพากษาอย่างกรณีนายสิระ เจนจาคะ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง


นอกจากนี้แล้ว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่สองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามกฎหมายปปช.ปี 61


และหาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีไปจนเกินวันที่ 24 สิงหาคม 65 โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยไม่แล้วเสร็จ ก็จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 82 วรรคสอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากมีเหตุอันควรสงสัย


โดย 51 อาจารย์นิติศาสตร์ จาก 15 มหาวิทยาลัย ให้เหตุผลว่า การยื่นเรื่องต่อประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประเทศไทยยึดถือหลักการปกครองโดยกฎหมายให้มากยิ่งกว่าที่ผ่านมา เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองนั้น ไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากฝ่ายตุลาการ



ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตีความกฎหมายตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ จะต้องวินิจฉัยตัดสินปัญหาโดยยึดถือตัวบทกฎหมาย และใช้กฎหมายกับทุกฝ่ายอย่างเสมอกัน และที่สำคัญที่สุดจะต้องเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจที่ฝ่ายตุลาการต้องใช้อำนาจตุลาการในการควบคุม ซึ่งในกรณีนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี


ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เปิดเผยว่าในวันพรุ่งนี้เวลา 13.00 น. พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นหนังสือผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องตรวจสอบรายชื่อตามข้อบังคับ ถ้าไม่แก้ไขภายใน 7 วันจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ ซึ่งมี 3 แนวทางตามที่วิเคราะห์กันแต่พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นตามกฎหมายว่าต้องครบ 24 สิงหาคม แต่หากพลเอกประยุทธ์ มีมโนสำนึกจะลาออกเปิดทางเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณา แต่การยุบสภาอาจต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ทางการเมือง


พรรคเพื่อไทยยังจัดงานเสวนา 8 ปีประยุทธ์ อยากไปต่อ แต่ต้องพอแค่นี้ โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล และนายสุทิน คลังแสง ต่างไม่เห็นด้วย หากพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจจะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี และอาจจะอยู่จนจบการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปกปลายปีนี้ จึงหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปตามแนวทางของกฎหมาย

คุณอาจสนใจ

Related News