เลือกตั้งและการเมือง

เปิดมุมมอง 'นักกฎหมาย' ตีความวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี 8 ปี

โดย parichat_p

10 ส.ค. 2565

118 views

ความเห็นเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี จะครบกำหนด 8 ปีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อใด ก็ยังคงมีนักวิชาการการเมือง นักกฎหมายจนถึงอดีตตุลาการศาล ออกมาให้ความเห็นต่างกันไป อย่างเช่นมุมมองนักกฎหมาย 2 ท่านนี้


วันนี้(10 ส.ค.65) รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ถึงวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 8 ปีตามรัฐธรรมนูญว่า การตีความตามเจตนารมณ์ เป็นหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นพื้นฐานที่สุดในทุกระบบกฎหมาย การจะค้นหาเจตนารมณ์ของกฎหมายใด ต้องไปค้นหาจากที่มาจากกฎหมายนั้น


ซึ่งมักจะถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างกฎหมาย หรือในบันทึกหลักการ และเหตุผลของกฎหมาย แม้ว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างจะไม่ใช่อย่างเดียวกันกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเสมอไป แต่เจตนารมณ์ของผู้ร่างที่บันทึกไว้ในรายงานการประชุมย่อมถือเป็นเบาะแสที่สำคัญที่สุดที่บ่งชี้ถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย


เพราะฉะนั้น การค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี จะต้องไปค้นหาจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แม้ว่าในประเด็นนี้ จะมีเพียงประธานที่ประชุมนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และกรรมการบางคนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการตีความไว้ แต่เมื่อกรรมการคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุมไม่ได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านเป็นประการอื่น ย่อมถือได้ว่าที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันว่าวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีต้องนับรวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ก่อนที่รัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะต้องไม่เกิน 8 ปี


การตีความให้วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องนับรวมเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ยังสอดคล้องกับการตีความตามจารีตประเพณีในทางรัฐธรรมนูญ หรือหลักกฎหมายทั่วไป ของระบอบประชาธิปไตย คือ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย จะต้องตีความไปในทางจำกัดอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจจนกลายเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการ นี่เป็นเหตุผลที่รัฐธรรมนูญของรัฐประชาธิปไตยหลายรัฐจำกัดวาระการดำรงแหน่งของหัวหน้าฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด


หากศาลรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์และตามจารีตประเพณีในทางรัฐธรรมนูญของระบอบประชาธิปไตย ผลของการตีความไม่อาจจะเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565″


ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตรองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงเอกสารบันทึกการประชุม ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ระบุความเห็น ของกรรมการแต่ละคนเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี8ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าต้องนับรวมระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยนั้น


นายสุพจน์ ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงความเห็นที่มีการพูดคุยถกเถียงกัน ของคน 20-30คน ในชั้นของการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกัน และข้อความที่มีการแชร์กัน ยืนยันว่าไม่ใช่มติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และบันทึกการประชุมดังกล่าว ก็ไม่ใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ


อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่า การนับวาระ8ปีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรนับตั้งแต่การได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 คือตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 เป็นต้นมา เพราะหากนับก่อนหน้านั้น ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีโดยสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ2560 ดังนั้นโดยประเพณีการปกครอง ต้องนับตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ลงมาหลังการเลือกตั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News